เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 78/2541

เรื่อง  ขอบเขตการใช้อำนาจ ตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

 

---------------------------------------------

 

                เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนว ทางปฏิบัติสำหรับการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  ให้ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.5/2527 เรื่อง การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวัน 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527

 

                ข้อ 2  กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด เพื่อทำการตรวจสอบภาษีอากร ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร และสั่งให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบด้วย ถ้าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นได้นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานประกอบการลงบัญชีที่จำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลมามอบให้ตามหมายเรียกและเพียงพอแก่การตรวจสอบเพื่อหากำไรสุทธิได้แล้ว ให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบและประเมินภาษีเงินได้ ตามมาตรา 20 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

                        (ก) นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานประกอบการลงบัญชีมามอบให้เจ้าพนักงานประเมินตามหมายเรียก แต่ไม่เพียงพอแก่การตรวจสอบเพื่อหากำไรสุทธิ หรือ

                        (ข) ไม่นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานประกอบการลงบัญชีมามอบให้เจ้าพนักงานประเมินตามหมายเรียก หรือ

                        (ค) ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีโดยอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร

 

                ข้อ 3  กรณีสำนักงาน หรือสถานประกอบการ หรือสถานที่เก็บรักษาบัญชี เอกสารหรือหลักฐานประกอบการลงบัญชีที่ได้รับอนุมัติหรืออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีหรือกฎหมายอื่นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ประสบภัยธรรมชาติหรือถูกเพลิงไหม้ทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นเหตุให้ไม่สามารถนำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานประกอบการลงบัญชีมามอบให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบภาษีอากรตามหมายเรียกที่ออกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีโดยถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

 

                ข้อ 4  กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด เพื่อทำการตรวจสอบภาษีอากร ตามมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร และสั่งให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นนำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบด้วย ให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 24 แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมทั้งเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนเงินภาษีอากรที่ต้องชำระ ตามมาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากร หรือจะทำการประเมินภาษีเงินได้ตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร ก็ได้ แล้วแต่ว่าภาษีตามวิธีใดจะมีจำนวนมากกว่า

 

                ข้อ 5  กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียก ตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อทำการตรวจสอบภาษีอากรบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบ กิจการขายส่งสินค้าบางประเภท ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินสามารถหาหลักฐานเพื่อนำมาใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิได้โดยง่าย เช่น กิจการขายส่งสุรา เบียร์ ยาสูบ น้ำมันเชื้อเพลิง ปูนซีเมนต์ เป็นต้น ให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบและประเมินภาษีเงินได้ ตามมาตรา 20 หรือมาตรา 24 แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมทั้งเบี้ยปรับอีก 1 เท่า หรือ 2 เท่าของจำนวนเงินภาษีอากรที่ต้องชำระ ตามมาตรา 22 หรือมาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี

 

 

                ข้อ 6  กรณีตามข้อ 4 เจ้าพนักงานประเมินจะไม่ประเมินภาษีเงินได้โดยอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร ก็ได้ ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีเหตุอันสมควรที่จะไม่ประเมินภาษีเงินได้ ตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นแต่ละกรณีไป

 

                ข้อ 7  บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือ หรือ ทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก

 

                ข้อ 8  คำสั่งนี้ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ลงในคำสั่งนี้เป็นต้นไป

 

สั่ง ณ วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2541

 

ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022