เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 50/2537

เรื่อง      แนวทางการพิจารณา"เหตุอันสมควร" กรณีแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไป ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

 

---------------------------------------------

 

                ตามที่บทบัญญัติมาตรา 67 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ จัดทำประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี แล้วให้คำนวณและชำระภาษีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว ได้แสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่มีเหตุอันสมควร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของภาษีที่ชำระขาด ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แม้ต่อมาจะได้มีหนังสือที่ กค 0810/6379 ลงวันที่ 27 เมษายน 2533 เรื่อง แนวทางการพิจารณา “เหตุอันสมควร” ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ให้ถือปฏิบัตแล้วก็ตาม แต่ในระยะเวลาต่อมา การพิจารณา “เหตุอันสมควร” ก็ยังเป็นเรื่องยุ่งยากสับสนและไม่สามารถแสดงได้ว่าความ “สมควร” เกิดขึ้นจริง และโดยที่การเสียภาษีตามมาตรา 67 ทวิ เป็นเพียงการจัดเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการประจำปี

 

                ฉะนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการพิจารณา “เหตุอันสมควร” ดังกล่าว กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งเพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

 

                "ข้อ 1  กรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นกรณีมีเหตุอันสมควร

 

                   (1) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิและยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปีไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว

 

                   (2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำหรือจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ไม่น้อยกว่ากำไรสุทธิที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว แต่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปีไว้น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว เนื่องจากได้รับยกเว้นหรือลดอัตราภาษี”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 152/2558 ใช้บังคับในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป)

 

                ข้อ 2  คำสั่งนี้ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ที่ลงในคำสั่งนี้เป็นต้นไป

 

สั่ง ณ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2537

 

จัตุมงคล โสณกุล

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022