เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 469)

พ.ศ. 2551

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2551

เป็นปีที่ 63 ในรัชกาลปัจจุบัน

---------------------------

 

                   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

                 โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ บางกรณี

 

                 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

 

               มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 469) พ.ศ. 2551”

 

              มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป

 

              มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 388) พ.ศ. 2544

 

             มาตรา 4 ในพระราชกฤษฎีกานี้

                           “สถาบันการเงิน” หมายความว่า

                                    (1) ธนาคารแห่งประเทศไทย

                                    (2) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์

                                    (3) บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

                                    (4) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม

                                    (5) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

                      “ตราสารหนี้” หมายความว่า ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร หุ้นกู้ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน บัตรเงินฝาก หรือตราสารอื่นที่มีผลก่อให้เกิดหนี้ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

                    “สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า สัญญาที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งหรือหลายลักษณะดังต่อไปนี้

                                  (1) สัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งส่งมอบสินค้าให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชำระราคา ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต เป็นจำนวนและราคาตามทีกำหนดไว้ในสัญญา

                                  (2) สัญญาที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้รับชำระเงินหรือต้องชำระเงินให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างระหว่างราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่กำหนดไว้ในสัญญากับราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่เป็นอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในสัญญา

                                  (3) สัญญาที่กำหนดให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งที่จะเรียกให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งส่งมอบสินค้าหรือชำระราคาของสินค้า หรือชำระเงินที่คำนวณได้จากส่วนต่างระหว่างราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่กำหนดไว้ในสัญญากับราคาหรือมูลค่าของสินค้าหรือตัวแปรที่เป็นอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือเรียกให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าทำสัญญาตาม (1) หรือ (2)

 

                มาตรา 5 ให้ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/6(3) แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละศูนย์จุดศูนย์หนึ่ง สำหรับรายรับจากการประกอบกิจการธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมายเฉพาะ การประกอบกิจการธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ดังต่อไปนี้

                             (1) ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินระหว่างสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยการกู้ยืมเงินมีกำหนดเวลาไม่เกินหนึ่งปี

                             (2) กำไรก่อนหักรายจ่ายใด ๆ จากการขายคืนหลักทรัพย์ตามสัญญาซื้อหรือขายหลักทรัพย์ โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนที่ทำระหว่างสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยสัญญามีกำหนดเวลาไม่เกินหนึ่งปี

                             (3) ดอกเบี้ยสำหรับเงินประกันเงินสดจากสัญญาซื้อหรือขายหลักทรัพย์ โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนตาม (2)

 

                             “(4) ดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ได้จากตราสารหนี้หรือกำไรก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ที่ได้จากการซื้อหรือขายตราสารหนี้ ทั้งนี้ ในกรณีที่ตราสารหนี้เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตั๋วแลกเงินจะต้องเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตั๋วแลกเงินตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประกาศกำหนด”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 525) พ.ศ. 2554 ใช้บังคับ 10 มิถุนายน 2554 เป็นต้นไป)

 

                             (5) ดอกเบี้ยจากสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์

                             (6) กำไรก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตรา

                             (7) ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม หรือกำไรก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ที่ได้จากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เฉพาะกรณีที่สินค้าหรือตัวแปรของสัญญาดังกล่าวเป็นเงินตราสกุลใด ๆ ตราสารหนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงิน อัตราดอกเบี้ย หรือสินค้าหรือตัวแปรอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด และสัญญานั้นได้กระทำนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แต่ไม่รวมถึงสัญญาซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน

 

                             “(8) ดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินได้รับจากการฝากเงินไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 525) พ.ศ. 2554 ใช้บังคับ 10 มิถุนายน 2554 เป็นต้นไป)

 

             มาตรา 6 บทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 388) พ.ศ. 2544 ให้ยังคงใช้บังคับต่อไป เฉพาะการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะที่ค้างอยู่หรือพึงชำระก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

 

            มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

นายกรัฐมนตรี

 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกานี้ คือ โดยที่ในปัจจุบัน การประกอบกิจการธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมายเฉพาะ การประกอบกิจการธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรายรับในอัตราร้อยละสามตามมาตรา 91/6(3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นภาระภาษีสำหรับการทำธุรกรรมในตลาดการเงิน ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระภาษีและสนับสนุนให้การประกอบกิจการของสถาบันการเงินมีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นผลดีแก่เศรษฐกิจของประเทศ สมควรลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรายรับจากการประกอบกิจการของสถาบันการเงินบางกรณีให้แก่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 125 ตอนที่ 23 ก วันที่ 28 มกราคม 2551)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022