เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1159/2550  
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ศิวนนท์โจทก์

กรมอาชีวศึกษา

จำเลย
เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม:สัญญาจ้างเหมา
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 82 82/4

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2541 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบ รวม 3 รายการ จำนวน 40,499,000 บาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 3,681,727.27 บาท ตลอดจนภาษีอากรอื่นๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วยแล้วโดยถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์ กำหนดการ จ่ายเงินเป็นงวดๆ ซึ่งขณะนั้นกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 353) พ.ศ.2542 ปรับปรุง อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมซึ่งจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ลดลงเป็นอัตราร้อยละ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นต้นไป โจทก์ทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้จำเลยเป็นงวดๆ จำเลยได้รับมอบงานและชำระค่าจ้าง ให้โจทก์ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับใช้จนกระทั่งรับมอบงานเรียบร้อยโดยคำนวณหักภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 และจำเลยไม่ได้ชำระค่าส่วนต่างของภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน ร้อยละ 3 เป็นเงิน 366,838.65 บาท ให้แก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่า สัญญาว่าจ้างที่โจทก์และจำเลยตกลงกัน มีข้อความว่า “ ค่าจ้างและการจ่ายเงิน (สำหรับสัญญาที่เป็นราคาเหมารวม) ผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายและผู้รับ จ้างตกลงรับเงินค่าจ้างจำนวน 40,499,000 บาท (สี่สิบล้านสี่แสนเก้าหมื่นเก้าพันบาทถ้วน) ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 3,681,727.27 บาท (สามล้านหกแสนแปดหมื่นหนึ่งพันเจ็ดร้อยยี่สิบเจ็ดบาทยี่สิบเจ็ดสตางค์) ตลอดจนภาษีอากรอื่นๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วยแล้ว โดยถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์และ กำหนดการจ่ายเงินเป็นงวดๆ ดังนี้...ฯลฯ...เห็นได้ชัดว่าโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาได้ตกลงให้การจ้างครั้งนี้เป็นสัญญาที่เป็นราคาเหมารวมซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในขณะนั้นจำนวน 3,681,727.27 บาท ตลอดจนภาษีอากรอื่นๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วยแล้ว หาได้มีข้อความให้แยกคิดคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต่างหากจากจำนวนเงินค่ารับเหมาทั้งหมดไม่ การที่สัญญามีข้อความระบุค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 3, 681,727.27 บาท ไว้ด้วยเป็นเพียงกำหนดรายละเอียดไว้เท่านั้น หามีผลทำให้สัญญาจ้างเหมาราคารวมดังกล่าวกลับกลายเป็นสัญญาที่แยกความรับผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปต่างหากไม่ นอกจากนั้น ข้อความในข้อ 4 ยังได้กำหนดให้ถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์และกำหนดการจ่ายเงิน เป็นงวดๆ อีกด้วย อันเป็นการแสดงชี้ให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าคู่สัญญามีเจตนาที่จะทำสัญญาให้เป็นสัญญาจ้างเหมารวมภาษีมูลค่าเพิ่มตลอดจนภาษีอากรอื่นๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วย หากโจทก์และจำเลยมีเจตนาที่จะแยกภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากราคาเหมารวมก็ชอบที่จะระบุไว้ในสัญญาให้ชัดแจ้งว่า ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย จำเลยจึงต้องชำระเงินส่วนต่างของภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 366,838.65 บาท แก่โจทก์.

ศาลภาษีอากรกลาง/ย่อ

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021