เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 5639/2550 
บริษัท ออโต้เทคนิค (ประเทศไทย) จำกัดโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง การประเมินภาษี กรณีขายรถยนต์
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 4 ทศ, 65 ทวิ (4) (9) ,77/1 (8) (ก) ,78 (1) (ข), 79, 79/3,84/3, 91/1(3)
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377, 378

กฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ข้อ 1 (3) ,ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)

มาตรา 65 ทวิ (4) ไม่ได้นิยามคำว่าราคาตลาดไว้ แต่เมื่อพิจารณาถึงความหมายในทางการค้าทั่วไป คำว่าราคาตลาดในมาตรา 65 ทวิ (4) คงมีความหมายทำนองเดียวกับคำว่าราคาตลาดตามมาตรา 79/3 และมาตรา 91/1 (3) กล่าวคือเป็นราคาสินค้าหรือบริการที่มีการซื้อขายตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง เนื่องจากโจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ ซ. แต่เพียงผู้เดียว จึงไม่มีราคารถยนต์จากผู้จำหน่ายรถยนต์ ซ. รายอื่นมาเปรียบเทียบเป็นราคาตลาดได้ ดังนั้นหากไม่มีข้อเท็จจริงอย่างอื่นราคาตลาดของรถยนต์ ซ จึงควรเป็นราคาตั้งขายปลีก ( Price list ) แก่บุคคลทั่วไป โจทก์นำสืบได้ว่า เมื่อปี 2550 รัฐบาลไทยประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัวทำให้เกิดภาวะวิกฤตอย่างรุนแรงอันมีผลกระทบกับบริษัทรถยนต์ในประเทศไทยทุกบริษัท โดยยอดขายลดลงจากเดิมเนื่องจากการปรับโครงสร้างทางการเงินและการประกาศเพิ่มภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นำเข้า บริษัทจำหน่ายรถยนต์จัดรายการส่งเสริมการขายกระตุ้นผู้บริโภคในช่วงปี 2550 ถึงปี 2551 สรุปได้ว่า บริษัทรถยนต์จัดรายการส่งเสริมการขายด้วยการไม่คิดดอกเบี้ย ให้ส่วนลดต่ำกว่าราคาที่ตั้งไว้เป็นจำนวนมากพร้อมของแถมและรับแลกรถยนต์เก่าโดยให้ราคาสูง หรือในกรณีซื้อรถยนต์ของยี่ห้อ ม. ด้วยเงินสด ลดให้ 2,000,000 บาท เป็นต้น เห็นได้ว่า ราคาสินค้าย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะเศรษฐกิจตลอดจนอุปสงค์และอุปทานในสินค้า ทั้งการบริหารกิจการของบริษัทโจทก์ในขณะมีวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้นในการจำหน่ายรถยนต์ที่ได้กำไรน้อยหรือขาดทุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการต้องปิดโชว์รูม และเพื่อนำเงินสดมารักษาสภาพคล่องของบริษัทขณะนั้น ย่อมมีเหตุรับฟังได้ แม้โจทก์จะขายรถยนต์ ซ. ใหม่ต่ำกว่าราคาทุนซื้อต่ำกว่าราคาทุนซื้อบวกอะไหล่ และขายต่ำกว่าราคาใบจองก่อนหักส่วนลด แต่เมื่อเปรียบเทียบกับราคารถยนต์ของยี่ห้อ ม. มีการลดราคาจาก 5,650,000 บาท เหลือ 3,670,000 บาท และรถยี่ห้อ ร. ให้ดอกเบี้ยฟรี 50 เดือน พร้อมอุปกรณ์ตกแต่งกว่า 100,000 บาท รถยนต์ยี่ห้อ อ. เพิ่มค่ารถเก่าของลูกค้าที่นำมาและซื้อ 100,000 ถึง 600,000 บาท เห็นได้ว่ารถ ซ. ขายใหม่ทั้ง 55 คัน ที่โจทก์ขายให้แก่ลูกค้าโดยไม่ปรากฏว่ามีการสมยอมราคากัน แม้จะต่ำกว่าราคาขายปลีกตามที่โจทก์ตั้งไว้อันเป็นราคาตลาดในสภาวะเศรษฐกิจปกติไปมากบ้างน้อยบ้าง แต่ถือได้ว่าเป็นการขายโดยมีเหตุอันควรแล้ว จึงมิใช่กรณีโจทก์ขายรถยนต์ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจตามมาตรา 65 ทวิ (4) ที่จะนำเอาราคาตั้งขายปลีกที่ปรากฏตามใบจองมาเป็นราคาตลาดในวันโอนรถยนต์และปรับปรุงรายได้จากการขายรถยนต์ใหม่ว่า โจทก์มีรายได้บันทึกบัญชีขาดไป

นาย ว. พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า ระหว่างบัญชีเดือนตุลาคม 2540 ถึงกันยายน 2551 โจทก์ขายรถยนต์เก่าไป 62 คัน แต่ขายไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาเพียง 32 คัน และเป็นการขายให้แก่บุคคลโดยทั่วไปที่มิได้มีความสัมพันธ์ใดๆ กับโจทก์ซึ่งแสดงว่าโจทก์พยายามขายรถยนต์ให้ได้ราคาที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ที่นาย ว. เบิกความว่าโจทก์ให้ราคารถยนต์เก่าแก่ผู้มาซื้อใหม่ของโจทก์ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดเพื่อจูงใจลูกค้า มีน้ำหนักรับฟังเป็นความจริงได้เพราะในขณะนั้นตลาดรถยนต์มีการแข่งขันกันสูง ส่วนรถยนต์เก่าคันอื่นๆ เป็นรถยนต์ที่มีความบกพร่องและเป็นรถยนต์ทดลองขับ ซึ่งผู้ใช้รถยนต์ย่อมไม่ใช้รถยนต์อย่างระมัดระวังเช่นรถยนต์ของตนเอง ทั้งรถยนต์เหล่านี้ผ่านการใช้งานแล้วจะนำราคาทุนที่ใช้สำหรับการขายรถยนต์ใหม่กำหนดเป็นราคาตลาดย่อมไม่ถูกต้อง ประกอบกับการที่โจทก์ขายรถยนต์เก่าในราคาที่ต่ำกว่าทุนจากเดิม ทั้งโจทก์ไม่ได้เปิดบริการขายรถยนต์ ซ. ใหม่ในช่วงนั้นเพื่อบรรเทาความเสียหายจากสภาวะขาดทุนของโจทก์ ดังนั้นการขายรถยนต์เก่าราคาต่ำกว่าทุนจึงมีเหตุสมควร เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจตามมาตรา 65 ทวิ (4) ที่จะประเมินรายได้จากการขายรถยนต์เก่าทั้ง 32 คัน ให้เท่าราคาทุนโดยถือว่าเป็นราคาตลาดได้แต่อย่างใด

โจทก์มีนาย ว. เบิกความประกอบหนังสือสัญญาจ้างซ่อมแซมรถโดยสารซึ่งเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างองค์การ ข. กับบริษัท ต. และบันทึกข้อความว่าด้วยการยกเลิกค่าซ่อมรถจากอุบัติเหตุค้างดำเนินการระหว่างปี 2520 ถึงปี 2534 ที่แสดงว่าโจทก์ทำสัญญารับจ้างดูแลบำรุงรักษารถยนต์โดยสารให้แก่องค์การ ข. ซึ่งในสัญญาให้สิทธิแก่บริษัท ต. ที่จะมอบให้บริษัทในเครือเป็นผู้ดำเนินการแทนได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้เข้าร่วมเป็นคู่สัญญากับองค์การ ข. โดยมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญา หนี้อันเกิดจากการรับจ้างซ่อมแซมดูแลรถประจำทางในกรณีรถเกิดอุบัติเหตุ ย่อมเป็นหนี้ระหว่างองค์การ ข. หาใช่หนี้ระหว่างโจทก์กับพนักงานขับรถยนต์ขององค์การ ข. แต่อย่างใดไม่ การที่โจทก์ทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการยกเลิกค่าซ่อมรถ ให้แก่องค์ ข. โดยไม่ได้ฟ้ององค์การ ข. เป็นคดีแพ่งหรือคดีล้มละลายหรือองค์การ ข. โดยไม่ได้ฟ้ององค์การ ข. เป็นคดีแพ่งหรือคดีล้มละลายหรือองค์การ ข. เลิกกิจการ ซึ่งเป็นการไม่ดำเนินตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 ( พ.ศ. 2534) ข้อ 4 การจำหน่ายหนี้สูญของโจทก์จึงไม่เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวชอบแล้ว

รายการอุปกรณ์ในหมวดอุปกรณ์มาตรฐาน ล้วนแต่เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับรถยนต์ราคาแพงจากต่างประเทศทั้งสิ้นเช่นสายต่อชุดโทรศัพท์ วิทยุ เครื่องเล่นซีดี ชุดสายไฟซีดี พรม ที่ปิด ยางอะไหล่ คิ้วคาดกันชน ฝาครอบแบตเตอรี่ สวิทซ์ คู่มือกาใช้รถยนต์และล้อแม็ก เป็นต้น ซึ่งมีการแยกราคาอุปกรณ์แต่ละชิ้นอย่างละเอียด ทั้งจำเลยมิได้นำสืบคัดค้านให้เห็นเป็นอย่างอื่นจึงเชื่อได้ว่าอุปกรณ์มาตรฐานและอุปกรณ์เพิ่มเติมหรือของแถมสำหรับรถยนต์ ซ. ใหม่ที่โจทก์ขายให้แก่ลูกค้ามีรายการปรากฏรายละเอียดรถยนต์ ซ. ที่จำหน่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่พิพาทและราคาอุปกรณ์มาตรฐานมารวมกับจำนวนเงินที่แสดงอุปกรณ์เพิ่มเติมหรือของแถมที่ติดตั้งให้แก่ลูกค้าจึงเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องทั้งรายการจำหน่ายรถยนต์ที่เจ้าพนักงานประเมินจัดทำขึ้นก็ผิดพลาดจากความเป็นจริง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มีอุปกรณ์เพิ่มเติมหรืออุปกรณ์ของแถมสำหรับรถยนต์ ซ. ใหม่ที่ขายให้แก่ลูกค้าซึ่งโจทก์มิได้ระบุรายการอุปกรณ์ดังกล่าวในใบกำกับภาษีการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบ

ในการขายรถยนต์ ซ. ใหม่ให้แก่ลูกค้าแต่ละรายโจทก์ให้พนักงานขายของโจทก์เจรจากับลูกค้าและทำใบสั่งจองให้ลูกค้าลงชื่อไว้ในใบสั่งจองโดยลูกค้าต้องวางเงินมัดจำ ซึ่งในใบจองระบุเพิ่มเติมว่า หากพ้นกำหนดรับมอบภายใน 15 วัน นับจากวันจองหรือภายใน 7 วันที่โจทก์ได้แจ้งการจัดเตรียมรถพร้อมส่งมอบ โจทก์มีสิทธิส่งมอบรถยนต์ให้ผู้จองรายอื่นโดยไม่ต้องคืนเงินจากจากลักษณะดังกล่าวจะเห็นได้ว่า พนักงานของโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่ลูกค้าแต่ละรายแล้ว ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1 (8) (ก) ถือเป็นการขาย ทั้งเงินมัดจำอยู่ในความครอบครองของโจทก์ซึ่งโจทก์สามารถนำไปหาประโยชน์ได้เพียงแต่ต้องคืนให้แก่ลุกค้าในกรณีที่โจทก์ไม่อาจมอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้าได้ตามสัญญา และโจทก์สามารถนำเงินดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับราคารถยนต์ที่โจทก์ขายให้แก่ลูกค้าเมื่อลูกค้ามารับรถยนต์ที่สั่งจอง แม้เงินมัดจำจะมีลักษณะเป็นเงินประกันความเสียหาย ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 บัญญัติรับรองไว้ว่า มัดจำย่อมเป็นประกันในการที่จะปฏิบัติตามสัญญาและมาตรา 378 ที่บัญญัติให้ริบ ถ้าฝ่ายวางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้นั่นเอง ดังนั้น เมื่อมาตรา 378 ได้บัญญัติไว้ว่า มัดจำนั้นถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้จัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระแล้ว เงินมัดจำจึงเข้าลักษณะเป็นเงินชำระค่ารถยนต์ล่วงหน้าบางส่วนที่จะต้องนำมาคำนวณเป็นฐานภาษีตามมาตรา 79 และ 78 (1) (ข) การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบแล้ว

สำหรับปัญหาว่ามีเหตุอันควรงดหรือลดเงินเพิ่มให้โจทก์หรือไม่เพียงใด โจทก์อุทธรณ์ว่าไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง โดยมิได้ให้เหตุผลว่าไม่เห็นพ้องด้วยเพราะเหตุใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29

การประเมินเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในประเด็นว่า โจทก์ขายรถยนต์ใหม่ต่ำกว่าราคาตลาด โจทก์ขายรถยนต์เก่าต่ำกว่าราคาตลาด และของแถมที่ไม่ได้ระบุไว้ในใบกำกับภาษี เป็นการไม่ชอบ เนื่องจากการขายรถยนต์ใหม่และรถยนต์เก่าของโจทก์เป็นการขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควร ส่วนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในประเด็นอื่นชอบแล้ว ดังนั้นจำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเงินเพิ่มที่โจทก์ชำระให้แก่โจทก์ แต่ตามข้อเท็จจริงเห็นได้ว่าควรมีภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลยบางส่วน ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรไม่คำนวณให้ในชั้นนี้ ดังนั้นหากมีภาษีที่โจทก์ต้องชำระให้แก่จำเลยภายหลังจากการคำนวณใหม่เป็นเป็นจำนวนเท่าใด ก็ต้องนำมาหักออกจากจำนวนเงินที่โจทก์จะได้รับคืนในชั้นบังคับคดี

ประมวลรัษฎากร มาตรา 4 ทศ และ 84/3 บัญญัติเรื่องการคืนเงินภาษีอากรไว้เป็นพิเศษแล้ว จึงไม่อาจนำเรื่องอัตราดอกเบี้ยคืนเงินภาษีอากรไว้เป็นพิเศษแล้ว จึงไม่อาจนำเรื่องอัตราดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ขอคืนได้ตามอัตรา ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากรข้อ 1 (3) แต่ต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ได้รับคืนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

ศาลภาษีอากรลาง/ย่อ

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021