เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 1233/2551 
ห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยพิทักษ์ โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย

เรื่องใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออก

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5 (1) (5) และมาตรา 89 ( 7 )

โจทก์นำใบกำกับภาษีเลขที่ 05/201 ระบุชื่อบริษัท ค. เป็นผู้ออก ใบกำกับภาษีเลขที่ 025/1210 025/1211 025/1229 025/1234 ระบุชื่อบริษัท บ. เป็นผู้ออก ใบกำกับภาษีเลขที่ 022/1075 022/1083 022/1088 ระบุชื่อบริษัท พ. เป็นผู้ออก ใบกำกับภาษีเลขที่ 08/84 (03/114) 03/115 03/116 ระบุชื่อบริษัท อ. เป็นผู้ออก มาใช้แสดงเป็นภาษีซื้อในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีสิงหาคม 2540 ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์การจ่ายเงินตามใบกำกับภาษีดังกล่าวได้สมบูรณ์ จึงถือว่าใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีที่ผู้ได้รับประโยชน์ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีให้ ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบ ด้วยกฎหมายตามมาตรา 82/5 (5) ต้องเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ตามมาตรา 89 (7) แห่งประมวลรัษฎากร

ใบกำกับภาษีซึ่งห้างฯ นำมาใช้แสดงเป็นภาษีซื้อในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีสิงหาคม 2540 เป็นใบกำกับภาษีซื้อต้องห้ามไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีตาม มาตรา 82/5 ( 5 ) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า ขณะที่โจทก์จ่ายเงินชำระราคาตามใบกำกับภาษี บริษัทที่ออกใบกำกับภาษีเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้องตามกฎหมาย แม้ต่อมาจะปรากฏว่าบริษัทเหล่านั้นจะได้จดทะเบียนเลิกบริษัท หรือถูกขีดฆ่าเป็นบริษัทร้าง หรือไม่ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 ในเดือนสิงหาคม 2540 และไม่พบการนำส่งภาษีตามใบกำกับภาษีที่ออกให้โจทก์ของบริษัทเหล่านั้นให้แก่จำเลยก็ตาม ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยต้องเรียกบริษัทเหล่านั้นมาตรวจสอบ มิใช่หน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำบริษัทที่ออกใบกำกับภาษีให้โจทก์มาชี้แจง ส่วนเรื่องให้โจทก์พิสูจน์การชำระเงินตามใบกำกับภาษีดังกล่าวก็ไม่มี กฎหมายกำหนดไว้ จึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่โจทก์ต้องพิสูจน์ เห็นว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์อ้างว่า ใบกำกับภาษีที่ออกโดยบริษัท ค. โจทก์จ่ายเงินชำระราคาตามใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นเช็คระบุชื่อบุคคลไม่ได้ระบุชื่อสั่งจ่ายบริษัท ค. และสั่งจ่ายเป็นเงินเพียง 4,000,000 บาท ส่วนที่เหลืออ้างว่าจ่ายเป็นเงินสด แต่โจทก์ก็มิได้แสดงเหตุผลว่า เหตุใดจึงไม่สั่งจ่ายเช็คระบุชื่อบริษัทผู้ขายสินค้าเป็นผู้รับเงินโดยตรง สำหรับบริษัท พ. และบริษัท บ. โจทก์อ้างว่า โจทก์ชำระเงินให้บริษัท ทั้งสองเป็นเช็คไม่ตรงกับจำนวนเงินตามใบกำกับภาษีที่บริษัททั้งสองออกให้ และอ้างว่าเช็คที่โจทก์ออกให้แก่บริษัททั้งสองดังกล่าวเป็นเช็ค ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด ซึ่ง ปิดกิจการไปแล้ว จึงไม่มีหลักฐานของธนาคารมาแสดงได้ ส่วนใบกำกับภาษี ของบริษัท อ. โจทก์ชำระเป็นเช็คของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด อีกเช่นกัน โจทก์จึงไม่สามารถนำรายการบัญชีธนาคารของโจทก์มาแสดงได้และ การที่โจทก์อ้างว่าจำนวนเงินตามเช็คอาจไม่ตรงกับจำนวนเงินตามใบกำกับภาษีเนื่องจากในการสั่งซื้อสินค้าผู้ขายจะส่งสินค้าพร้อมใบส่งของมาให้ก่อน ต่อมาจึงตรวจสอบสินค้าว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่ แล้วจ่ายเงินกันในภายหลังนั้น ข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์มิได้แสดงว่าผู้ขายออกใบกำกับภาษีให้โจทก์ก่อนที่โจทก์จะตรวจสอบสินค้าและชำระเงิน ดังนั้น เมื่อผู้ขายเพียงแต่ออกใบส่งของให้ก่อน หากโจทก์ตรวจสอบ สินค้าแล้วไม่ครบหรือไม่ตรงกับที่ซื้ออันทำให้โจทก์ชำระราคาต่ำกว่าที่ตกลงซื้อ ผู้ขายก็ควรจะออกใบกำกับภาษี ให้ตรงกับที่มีการซื้อขายและชำระราคากันจริง ข้ออ้างของโจทก์จึงเลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ผู้ที่จะมีสิทธิออกใบกับภาษีได้นอกจากต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังต้องปรากฏ ด้วยว่าผู้ประกอบการนั้นได้ขายสินค้าหรือให้บริการและได้รับชำระราคาสินค้าหรือบริการนั้น หรือเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในกรณีอื่นตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร หาใช่ว่า ใบกำกับภาษี ที่ออกโดยผู้ประกอบการจดทะเบียนจะเป็นใบกำกับภาษีที่ชอบด้วยกฎหมายทุกกรณีไม่ และเมื่อเจ้าพนักงานแจ้งให้โจทก์นำหลักฐานการจ่ายเงินตามใบกำกับภาษีพิพาทมาแสดง โจทก์ก็ไม่สามารถนำหลักฐานการจ่ายเงินมาชี้แจงให้ชัดเจนว่าโจทก์ได้จ่ายเงินให้บริษัทผู้ออกใบกำกับภาษีดังกล่าว โจทก์คงอ้างลอย ๆ ว่า เหตุที่ชำระราคาไม่ตรงกับใบกำกับภาษีเพราะชำระเป็นเช็คบางส่วน บางส่วนชำระเป็นเงินสดเท่านั้น เมื่อโจทก์นำสืบได้ความแต่เพียงเท่านี้ ทั้ง ๆ ที่โจทก์เป็นบริษัทจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการมานานแล้ว โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นเสียภาษีแก่จำเลยตลอดมา โจทก์ย่อมต้องทราบดีว่าโจทก์มีสิทธินำภาษีซื้อมาคำนวณภาษีได้ เป็นประโยชน์แก่บริษัทของโจทก์เอง โจทก์ควรต้องเก็บหลักฐานการชำระเงินแก่คู่ค้าของโจทก์ให้ครบถ้วนเพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้ชำระราคาสินค้าให้แก่คู่ค้าจริงอันจะทำให้โจทก์มีสิทธินำภาษีซื้อมาหักในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างโดยเป็นผู้ได้รับประโยชน์ในการนำภาษีซื้อไปเครดิตภาษีหรือขอคืนภาษี ภาระการพิสูจน์ว่าใบกำกับภาษีซื้อออกโดยถูกต้องแท้จริงและชอบด้วยกฎหมายจึงตกอยู่แก่โจทก์อีกด้วย แต่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ตามข้ออ้าง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า บริษัททั้งสี่ดังกล่าวออกใบกำกับภาษีซื้อให้แก่โจทก์โดยไม่มีการขายสินค้า ถือว่าใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี โจทก์จึงไม่อาจนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีนั้นมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/5 (5)

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ให้ลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์ เห็นว่า พฤติการณ์ของโจทก์ที่ ไม่มีหลักฐานการชำระเงินตามใบกำกับภาษีที่โจทก์นำมาใช้ในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ ส่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีพฤติการณ์ไม่สุจริตจึงไม่มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021