เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 402/2551 
ห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงกิจไพศาลโจทก์
กรมสรรพากร ที่ 1 กับพวก รวม 4 คนจำเลย
เรื่อง การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1)

โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) และรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ ในการคำนวณภาษีอื่นสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2543 และปี 2544 ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่ วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องด้วยกรณีที่ เจ้าพนักงานมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว นอกจากนี้เจ้าพนักงานประเมินได้ให้โอกาสโจทก์โดยหมายเรียกให้โจทก์ไปพบ และนำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานไปให้เจ้าพนักงานทำการไต่สวนแล้ว แต่โจทก์ขอผัดผ่อนเรื่อยมาเป็น เวลานานถึง 6 เดือน จึงยอมที่จะนำส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานให้ไต่สวน แต่ก็เป็นเวลาภายหลังที่ เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรไปแล้ว ทั้งๆ ที่โจทก์มีหน้าที่ ต้องทำบัญชีต่างๆ รวมถึงต้องเก็บเอกสารหลักฐานประกอบการทำบัญชีดังกล่าวไว้ให้พร้อมเพื่อการตรวจสอบ อยู่แล้ว ส่วนมากเป็นการรับเหมาก่อสร้าง ประกอบกับกิจการของโจทก์มิใช่กิจการขายส่งสินค้าซึ่งสามารถหาหลักฐานเพื่อนำมาใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิได้โดยง่าย ถือว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์และปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการในภายหลังจากที่ถูกประเมิน ให้ชำระภาษีและเงินเพิ่มแล้ว ไม่มีผลทำให้การประเมินที่ชอบเสียไป และเมื่อทำการประเมินภาษีเงินได้ นิติบุคคลโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2543 และปี 2544 แล้ว เจ้าพนักงานได้นำภาษีที่คำนวณได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2543 ไปคำนวณเงินเพิ่ม ในกรณีที่โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2543 ครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ตามมาตรา 67 ทวิ (1) ในอัตราร้อยละ 20 ของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น กับนำภาษีที่คำนวณได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ไปคำนวณกลับเป็นกำไรสุทธิ แล้วนำกำไรสุทธิ ที่คำนวณได้ไปเทียบกับประมาณการตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2544 ครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ที่โจทก์ได้ยื่นไว้ตามมาตรา 67 ทวิ (1) ซึ่งแสดงประมาณการขาดทุนสุทธิไว้ อันเป็นการแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจาก กิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นโดยไม่มีเหตุอันควร โจทก์ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของกึ่งหนึ่ง ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ตามมาตรา 67 ตรี วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร แล้วประเมินให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มก็ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะการคิดเงินเพิ่ม ตามมาตรา 67 ตรี วรรคหนึ่ง นี้มิใช่ใช้เฉพาะกับการประเมินภาษีจากกำไรสุทธิโดยวิธีปกติตามมาตรา 65 เท่านั้น แต่ยังใช้กับการประเมินภาษีโดยวิธีพิเศษตาม มาตรา 71(1) ด้วย การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้ นิติบุคคลและเงินเพิ่มนั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

รายรับที่โจทก์ได้ถูกหักภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งจำเลยที่ 1 แล้ว ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2543 และปี 2544 เป็นส่วนหนึ่งของรายรับที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาใช้ ในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลโจทก์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวตามมาตรา 71(1) แห่ง ประมวลรัษฎากร จึงต้องนำภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วนั้นมาหักออกจากภาษีเงินได้ นิติบุคคลที่โจทก์ต้องชำระตามการประเมินนี้ด้วยโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นการประเมินโดยวิธีพิเศษ ตามมาตรา 71(1) หรือเป็นการประเมินโดยวิธีปกติตามมาตรา 65 หรือไม่ มิฉะนั้นจะเท่ากับโจทก์ถูกเรียกเก็บภาษี จากรายรับหรือรายได้เดียวกันซ้ำซ้อนซึ่งไม่ชอบด้วยความเป็นธรรมและไม่มีกฎหมายให้อำนาจกระทำได้ ซึ่งในกรณีนี้ โจทก์ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งจำเลยที่ 1 แล้ว เจ้าพนักงานประเมินจึงต้องหักภาษีส่วนนี้ให้โจทก์

โจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกและหนังสือเตือนของเจ้าพนักงานประเมินโดยขอผัดผ่อน ในการไปพบและส่งบัญชี เอกสารหรือหลักฐานเพื่อให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตรวจสอบเรื่อยมาเป็นเวลานานถึง 6 เดือน ทั้งที่บัญชี เอกสารหรือหลักฐานดังกล่าวเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องทำและมีไว้ ตามกฎหมาย แสดงว่าโจทก์ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมิน การที่โจทก์ เพิ่งนำส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานต่างๆ ภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้ทำการประเมินแล้ว ไม่เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุควรงดหรือลดเงินเพิ่มให้

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021