เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 3898/2552 
นายณัฐวัชร์ สว่างวรรณ โจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง การรับฟังพยานหลักฐาน กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ในทางการค้าหรือหากำไร
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 61 และมาตรา 91/2(6)
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29

โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า อุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยมิได้โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล ซึ่งตามคำอุทธรณ์ของจำเลยที่ระบุว่า จากหลักฐานสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 9230 และ 9232 รวมทั้งหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน ปรากฏชื่อโจทก์ในสัญญาอันเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ จึงถือว่าโจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์และเป็นผู้มีรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ เมื่อโจทก์ยินยอมลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจกรณีจึงถือว่าสัญญาขายอสังหาริมทรัพย์สมบูรณ์และมีผลผูกพันโจทก์ถือได้ว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ที่ชัดแจ้งแล้ว ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ประกอบมาตรา 225 วรรคหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
หนังสือสัญญาขายที่ดินและสำเนาโฉนดที่ดินระบุว่า โจทก์ซื้อที่ดินเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2533 และวันที่ 9 พฤษภาคม 2533 และขายไปในวันที่ 25 พฤษภาคม 2535 ในราคา 3,573,500 บาท โจทก์อ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ทำนิติกรรมและไม่ได้มอบอำนาจให้บุคคลใดทำการแทนในสารบบการขายที่ดินโจทก์ถูกเชิดให้เข้าถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท เนื่องจาก ปี 2529 โจทก์เป็นพนักงานของ บริษัท ฟ. จำกัด (มหาชน) ระหว่างที่ทำงานอยู่ คุณหญิง พ. ซึ่งเป็นผู้บริหารในบริษัทดังกล่าวนำแบบพิมพ์เปล่ามาให้ลงลายมือชื่อ และไม่รู้จักนาย ว. ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ขายที่ดินพิพาท และไม่เคยได้รับเงินจากการขายที่ดินจึงไม่มีรายได้จากการขายที่ดินพิพาท ไม่ต้องรับผิดเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่โจทก์ไม่ได้นำคุณหญิง พ. และนาย ว. มาเบิกความในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบว่า การขายที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นการมุ่งการค้าหรือหากำไรแต่อย่างใด ส่วนจำเลยมีหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและโฉนดที่ดินพิพาทมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นผู้ขายที่ดินพิพาท พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ดังนั้น เมื่อโจทก์โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ บริษัท ม. จำกัด ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งที่ดินพิพาทนั้น จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ในทางการค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 3(6) แห่งพระราชกำหนดออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 อุทธรณ์ชอบแล้ว

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021