เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 5868/2552 
นายมนต์ชัย เชิดชูชัย โจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (จากการขายฝากที่ดิน)
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 มาตรา 3 (6)
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 มาตรา 4 (6)
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.127/2546

นางสาว ส. จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 50147 ให้แก่นาย ว. เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2535 และนาย ว. นำโฉนดที่ดินดังกล่าวขายฝากให้แก่โจทก์มีกำหนด 1 ปี เป็นเงิน 3,500,000.- บาท ต่อมาวันที่ 21 ตุลาคม 2535 นางสาว ส. ได้ยื่นฟ้องนาย ว. เป็นจำเลย ที่ 1 และโจทก์เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลธัญบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 855/2535 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าว ระหว่างนางสาว ส. กับนาย ว. และเพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาขายฝากระหว่างนาย ว. กับโจทก์ ต่อมานางสาว ส. กับโจทก์ตกลงประนีประนอมยอมความ ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม โดยนางสาว ส. ได้ชำระเงินจำนวน 3,000,000.- บาท แก่โจทก์และโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้นางสาว ส. โดยจดทะเบียนซื้อขายในราคา 9,220,375.- บาท ขณะนั้นที่ดินมีราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม 2,361,500.- บาท ต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะแก่โจทก์ โดยแจ้งว่าโจทก์มีรายรับจากการขายที่ดิน 9,220,375.- บาท ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นรวม 608,544.- บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์
มาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “ขาย หมายความรวมถึง สัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อหรือจำหน่าย จ่าย โอนไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่” การที่โจทก์โอนที่ดินให้แก่นางสาว ส. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลธัญบุรีมีการจดทะเบียนนิติกรรมเป็นการซื้อขาย ต้องด้วยคำนิยามคำว่า “ขาย” เมื่อโจทก์เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำพยานที่บันทึกไว้ล่วงหน้าว่า โจทก์ซื้อฝากที่ดินดังกล่าวในราคา 3,500,000.- บาท มีกำหนด 1 ปี โดยได้ตรวจสอบแล้วว่าที่ดินมีอยู่จริง ราคาประมาณ 9,000,000.- บาท ดังนั้น หากผู้ขายฝากไม่มาไถ่ทรัพย์นั้นคืนภายในกำหนด โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวซึ่งมีราคาสูงและในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินคืนโจทก์ยังคงได้ผลประโยชน์อันเป็นสินไถ่ ประกอบกับการที่โจทก์ต้องโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่นางสาว ส. เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น จึงเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6)แห่งประมวลรัษฎากรและพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 การทำนิติกรรมการขายที่ดินของโจทก์ดังกล่าวอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ การที่โจทก์รับซื้อฝากที่ดินในราคา 3,500,000.- บาท ขณะโจทก์โอนที่ดินให้แก่นางสาว ส. ที่ดินมีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม 2,361,500.- บาท แต่โจทก์ได้รับเงินจำนวน 3,000,000.- บาท จำนวนเงินดังกล่าวถือเป็นรายรับที่โจทก์ต้องคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะมิใช่รายรับจำนวน 9,220,375.- บาท ตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021