คำพิพากษาฎีกาที่ 8273/2551 | |
ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดรพรเพ็ญก่อสร้าง | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง การออกหมายเรียก อำนาจคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คำสั่งทางปกครอง | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 มาตรา 30 และมาตรา 71 (1) | |
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 | |
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรกลางและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 | |
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 และมาตรา 37 | |
การที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกให้โจทก์นำบัญชีและเอกสารต่างๆ ไปมอบให้เจ้าพนักงานประเมินโดยให้เวลาแก่โจทก์ในการปฏิบัติตามหมายเรียกดังกล่าวน้อยกว่า 7 วัน นับแต่วันส่งหมาย มีผลเพียงว่าโจทก์ไม่จำต้องปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนดในหมายเรียกนั้น และจะถือว่าโจทก์มีความผิดเพราะไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกไม่ได้เท่านั้น หาทำให้การออกหมายเรียก การตรวจสอบและการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเสียไปทั้งหมดไม่ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาทบทวนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามคำอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากร แล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งคือยกคำอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากรในกรณีที่เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้วประการหนึ่งปลดภาษีตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามคำอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากรในกรณีที่เห็นว่าผู้ต้องเสียภาษีอากรไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีหรือไม่มีภาษีต้องเสียประการหนึ่งหรือให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในกรณีที่เห็นว่าการประเมินมีข้อผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอีกประการหนึ่งซึ่งกรณีหลังนี้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อาจแก้ไขโดยกำหนดจำนวนภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มใหม่ไปทีเดียว หรืออาจแก้ไขโดยให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินใหม่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้ หาใช่ว่าจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดโดยกำหนดจำนวนภาษีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มใหม่ให้เสร็จเด็ดขาดไปสถานเดียวไม่ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ใหม่ด้วยวิธีคำนวณหากำไรสุทธิเพราะเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายเป็นการไม่ถูกต้องจึงเป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย คำฟ้องโจทก์โต้เถียงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยตรงว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะวินิจฉัยในประเด็นปัญหาที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เคยวินิจฉัยไว้แล้วในคำวินิจฉัยอุทธรณ์ครั้งแรกเมื่อคำให้การจำเลยไม่ได้โต้เถียงข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นข้อกฎหมายและเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวข้อความนี้โดยชัดแจ้งในคำอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องปัญหานี้ได้ โจทก์อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินครั้งแรกว่า เจ้าพนักงานของจำเลยยึดเอกสารและบัญชีไปจากโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดเมื่อโจทก์ได้รับเอกสารและบัญชีคืนมาก็ได้รีบยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลทันที จึงขอให้งดเบี้ยปรับแก่โจทก์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีเจตนาไม่ยื่นแบบไม่ทันกำหนดเวลาแต่เมื่อมีการประเมินใหม่และโจทก์อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินครั้งหลัง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กลับวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการหลังจากพ้นกำหนด จึงถือว่าโจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในครั้งหลังเป็นการวินิจฉัยซ้ำในประเด็นปัญหาเดียวกันกับที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในครั้งแรกไปแล้ว เมื่อประมวลรัษฎากรไม่มีบทบัญญัติให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาประเด็นปัญหาที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้เคยมีคำวินิจฉัยไปแล้วในการประเมินรายเดียวกัน ทั้งไม่ปรากฏว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ครั้งแรกวินิจฉัยประเด็นปัญหาไม่ตรงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏคำวินิจฉัยอุทธรณ์ครั้งหลังในส่วนที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่พิพาทเป็นคำสั่งทางปกครองตามพ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 ซึ่งอยู่ในบังคับต้องจัดให้มีเหตุผลตามที่บัญญัติในมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจอันเป็นเหตุผลที่ต้องจัดให้มีในคำสั่งทางปกครองแต่ละเรื่องอาจแตกต่างกันไป แล้วแต่กรณีและเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ปัญหาว่าคำสั่งทางปกครองฉบับใดได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคสามก็เป็นปัญหาข้อเท็จจริง และอาจแตกต่างกันไปแล้วแต่กรณีเช่นเดียวกัน เมื่อคำฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายความข้อนี้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 |