คำพิพากษาฎีกาที่3673/2552 | |
ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุบลเทพประสิทธิ์ | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่องการออกและส่งหมายเรียกอำนาจการประเมิน |
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา8, 19, 68, 69, 71 (1), 88 (2), 88/4 |
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง |
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528มาตรา 29 |
ใบตอบรับในประเทศของไปรษณีย์ระบุว่า มีการส่งหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร ไปยังบ้านเลขที่ของโจทก์ โดยมีนาย ข. ลงลายมือชื่อรับในใบตอบรับ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยส่งหมายเรียกตามประมวลรัษฎากรไปยังสำนักงานของโจทก์ตามหนังสือรับรองโดยชอบตามมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว เมื่อโจทก์ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจไปพบเจ้าพนักงานของจำเลย โดยโจทก์มิได้ขีดฆ่าข้อความใด ๆ ที่ไม่ต้องการใช้ในหนังสือมอบอำนาจออก แสดงว่าโจทก์มอบให้ผู้รับมอบอำนาจกระทำการทุกอย่างตามที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจ ดังนั้น บันทึกถ้อยคำและเอกสารต่าง ๆ ที่ผู้รับมอบอำนาจส่งมอบแก่เจ้าพนักงานของจำเลยจึงผูกพันโจทก์ โจทก์จะปฏิเสธความผูกพันดังกล่าวมิได้ เมื่อโจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 68 และ 69 แห่งประมวลรัษฎากร หากกรณีมี เหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา 71 (1) ที่ทำให้จำเลยไม่ทราบยอดกำไรสุทธิที่ชัดแจ้ง แม้โจทก์จะยื่นเอกสารอื่นๆให้แก่เจ้าพนักงานของจำเลยไว้เพื่อตรวจสอบแล้วถ้ายังไม่ได้ความชัดแจ้งเกี่ยวกับภาษีที่ต้องชำระ เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย ตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากรได้ ภายหลังจากที่โจทก์รับหมายเรียกตามประมวลรัษฎากรเป็นหมายเรียกไต่สวนตรวจสอบภาษีอากรประเมินทุกประเภท ซึ่งสรรพากรจังหวัดอำนาจเจริญเป็นผู้ออกหมาย เนื่องจากโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจและได้ย้ายสำนักงานในภายหลัง เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จังหวัดอำนาจเจริญจึงมีอำนาจประเมินและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ได้ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งไม่ถูกต้องครบถ้วนย่อมมีอำนาจประเมินให้โจทก์ในฐานะผู้จ่ายเงินรับผิดในส่วนที่ขาดได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นบทบัญญัติโดยเฉพาะอยู่แล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องออกหมายเรียกภายในระยะเวลาและโดยเงื่อนไขตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์มีหน้าที่ยื่นรายการพร้อมกับชำระภาษีจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิ ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตามมาตรา 67 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร และในกรณีที่บริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (1) โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่มีเหตุอันสมควร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสีย ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นหรือของภาษีที่ชำระขาด แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินอาจประเมินให้โจทก์ชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่มได้ทันทีเมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตรวจสอบตามมาตรา 19 และมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม การออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ประมวลรัษฎากรได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในมาตรา 88/4 แล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์ได้ทันที ตามมาตรา 88 (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกมาตรวจสอบไต่สวนก่อน ตามมาตรา 88/4 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 23 และมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มพิพาทว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร นอกเหนือจากที่อ้างว่าการส่งหมายเรียกตามประมวลรัษฎากรไม่ชอบและโจทก์ไม่ได้รับหมายเรียก การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเป็นอันยุติและชอบแล้ว กรณีโจทก์ของดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางว่า ไม่ชอบอย่างไร หรือเพราะเหตุใด จึงเป็นอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้งอันต้องห้ามตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ประกอบมาตรา 225 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง |