เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่2843/2552 
บริษัท พรีเชียสเมมโมรี่ จำกัดโจทก์
กรมสรรพากร กับพวกจำเลย
เรื่องยื่นแบบแสดงรายการแสดงยอดขายเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่ายอดขายเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา88 (2)

พยานโจทก์เพียงแต่เบิกความลอยๆ ว่ายอดขายตามที่ปรากฏในแบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2544 เป็นยอดขายที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เหตุที่ยอดขายในแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 สูงกว่าเนื่องจากนางสาว ภ ลูกจ้างสำนักงานบัญชี นำยอดขายต่างประเทศจำนวน 5,261,800.21 บาท รวมเข้าเป็นรายได้ของเดือนธันวาคม 2544
ผลต่างจำนวนดังกล่าวเกิดจากการที่ลูกจ้างของสำนักงานบัญชีลงรายการซ้ำในแบบ ภ.ง.ด.50 โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ซึ่งมีเจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีอากรและเจ้าหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์เบิกความว่า จากการตรวจสอบแบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2544 เปรียบเทียบกับแบบ ภ.ง.ด.50 และงบกำไรขาดทุนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 แล้ว พบว่าโจทก์มีรายได้จากการรับจ้างทำของจำนวน 2,197,600 บาท แต่ลงรายการในแบบ ภ.พ.30 เพียง 1,142,100 บาท ต่างกัน1,055,500 บาท และมีรายได้จากการขายในประเทศจำนวน 9,844,977.55 บาท แต่ลงรายการในแบบ ภ.พ.30 เพียง 5,638,677.34 บาท ต่างกัน 4,206,300.21 บาท รวมเป็นผลต่างจำนวน 5,261,800.21 บาท ปรากฏตามรายงานการตรวจปฏิบัติการ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์แสดงยอดขายในแบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2544 ขาดไปจำนวน 5,261,800.21 บาท การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2544 จึงไม่ถูกต้อง การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามการประเมิน จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ผ่อนชำระตามการประเมินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021