เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่13847/2553 
บริษัท น้ำตาลวังขนาย จำกัดโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง กำหนดเวลาการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม และการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
ตามประมวลรัษฎากร
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 83, 88/6(1)(ค), 91/2 (5)
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29

โจทก์หาได้บรรยายฟ้องตั้งประเด็นพิพาทว่า ที่ตั้งของสำนักงานสาขาธนาคารทั้งสองแห่งในสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นภูมิลำเนาของธนาคารทั้งสองแห่งตามมาตรา 69 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางไม่ชอบด้วยมาตรา 225 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรกลางและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือโจทก์ไม่สามารถยกปัญหาเช่นนี้ขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติ ว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ อันจะเข้าข้อยกเว้นให้โจทก์มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 225 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีแสดงยอดขายเดือนภาษีตุลาคม 2535 เป็นจำนวน 78,016,445.40 บาท แต่ผลการตรวจสอบปรากฏว่า โจทก์มียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 177,985,275.20 บาท จึงมียอดแตกต่างอยู่จำนวน 99,968,829.90 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.83 ของฐานภาษีที่โจทก์ยื่นแสดงรายการไว้ กรณีจึงเข้าเกณฑ์เป็นการประเมินในกรณีโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีโดยแสดงฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าที่โจทก์ได้รับหรือพึงได้รับเป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละ 25 ของฐานภาษีที่แสดงในแบบแสดงรายการภาษี เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีโจทก์ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีได้ตามมาตรา 88/6 (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องยื่นแบบแสดงรายการเป็นรายเดือนพร้อมกับชำระภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ฐานภาษีที่จะนำมาพิจารณาคำนวณว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการไว้ต่ำกว่ามูลค่าที่โจทก์ได้รับหรือพึงได้รับเป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละ 25 ของฐานภาษีที่แสดงรายการภาษีหรือไม่ จึงต้องพิจารณาเฉพาะฐานภาษีสำหรับเดือนภาษีที่มีการประเมินเท่านั้น ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าจะต้องนำยอดสินค้าขาดบัญชีทั้งหมดรวม 10 เดือนภาษี มาหารหาค่าเฉลี่ยแล้วจึงคำนวณหาอัตราร้อยละของฐานภาษีที่ขาดจำนวนจึงจะถูกต้องและเป็นธรรมนั้นเป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักกฎหมายและหลักวิชาการบัญชีมารองรับสนับสนุน จึงไม่อาจรับฟังหักล้างคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า กรณีของโจทก์เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 88/6 (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ทำให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรนั้น ชอบแล้ว
เมื่อได้จัดตั้งเป็นบริษัทแล้ว ความผูกพันระหว่างหุ้นและผู้ถือหุ้นย่อมต้องอยู่ในบังคับ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท หมวด 4 บริษัทจำกัด ส่วนที่ 2 หุ้นและผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดของผู้ถือหุ้นในส่วนของดอกเบี้ย เงินค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นมิได้ส่งใช้แก่บริษัทไว้ในมาตรา 1122 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อข้อเท็จจริงจากหลักฐานการจดทะเบียนบริษัทจากกระทรวงพาณิชย์ และหลักฐานตามงบดุลประกอบการลงบัญชีของบริษัทโจทก์ฟังได้เป็นยุติว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2532 โจทก์ได้จดทะเบียนเพิ่มทุนจำนวน 150,000,000.- บาท และโจทก์ได้รับชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าเรียบร้อยแล้ว แต่โจทก์กลับมีบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นค้างชำระตามงบการเงินจำนวน 48,775,918.69 บาท ย่อมมีนัยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า การลงบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นค้างชำระจำนวนดังกล่าวนั้นแท้จริงแล้วมิใช่เป็นการค้างชำระค่าหุ้นจริง หากแต่ถือเสมือนว่าโจทก์ปฏิบัตติอย่างอื่นที่ก่อให้เกิดผลเช่นเดียวกับการที่โจทก์ยอมให้ผู้ถือหุ้นกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่อย่างไรก็ดีเมื่อกรณีดังกล่าวเป็นเงินให้กู้ยืมอันเนื่องมาจากการเพิ่มทุนโดยออกหุ้นใหม่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 เพียงคราวเดียวเท่านั้นข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คล่วงหน้า (เช็คเกี้ยว) ให้ชาวไร่อ้อยนั้นก็เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยให้นำเช็คไปแลกเงินจากธนาคารพาณิชย์โดยวิธีขายลดเช็ค ชาวไร่อ้อยต้องเสียส่วนต่างเป็นดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารพาณิชย์ผู้ซื้อเช็คโดยตรง ชาวไร่อ้อยไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับชาวไร่อ้อยมีผลบังคับเพียงให้ชาวไร่อ้อยนำอ้อยที่ปลูกได้มาส่งมอบให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จะคิดราคาอ้อยตามที่โจทก์ได้ใช้เงินไปตามเช็ค ทั้งนี้เพื่อโจทก์จะได้มีวัตถุดิบอ้อยป้อนเข้าโรงงานน้ำตาลของโจทก์ ข้อตกลงและธุรกรรมระหว่างโจทก์กับชาวไร่อ้อยในเรื่องนี้หาได้มีวัตถุประสงค์เป็นการให้กู้ยืมไม่ แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่บังคับกันได้ระหว่างชาวไร่อ้อยกับโจทก์ อีกทั้งข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนาย ร. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์แสดงให้เห็นว่าธุรกรรมการออกเช็คเกี้ยวเป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจที่จำเป็นของโจทก์ในการแสวงหาวัตถุดิบคือ อ้อยจากชาวไร่อ้อยมาเป็นปัจจัยในการผลิต และเป็นยุทธศาสตร์ที่โจทก์จำเป็นต้องใช้เพื่อจูงใจให้ชาวไร่อ้อยผลิตอ้อยมาส่งโรงงานให้โจทก์ และโจทก์ได้ใช้เป็นกลยุทธ์หลักในการบริหารจัดการธุรกิจของโจทก์ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงถือได้ว่าธุรกรรมการออกเช็คเกี้ยวให้แก่ชาวไร่อ้อยที่โจทก์กระทำในการประกอบธุรกิจของโจทก์ ดังที่ได้วินิจฉัยมานี้ ไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021