เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่11222/2553 
บริษัท ยูไนเต็ด ลิ้งซ์ จำกัดโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง กำหนดเวลาการประเมินภาษี
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2), 88/5, 88/6 (1)

คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธินำประเด็นตามคำฟ้องที่ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ได้กระทำภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 88/6 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และประเด็นว่า มีเหตุงดหรือลดเบี้ยปรับมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามมาตรา 7 (1) และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิพากษาคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร แต่ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้คัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาเช่นนั้น และได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรือคำอุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว นอกจากนี้ตามมาตรา 88/5 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ ประเด็นใดไม่อุทธรณ์ตามหลักเกณฑ์ถือว่าประเด็นนั้นยุติ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่มีสิทธินำประเด็นนั้นขึ้นสู่การพิจารณาของศาลภาษีอากร สำหรับประเด็นที่โจทก์อ้างว่า การประเมิน ของเจ้าพนักงานประเมินมิได้กระทำภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 88/6 (1) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น โจทก์อุทธรณ์คัดค้านหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในทำนองว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบ จึงขอให้ยกเลิกการประเมิน แม้เหตุผลในการอุทธรณ์ของโจทก์ จะมิได้ยกเรื่องการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินมิได้กระทำภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 88/6 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ไว้ในอุทธรณ์ก็ตาม แต่ข้ออ้างดังกล่าวก็เป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่สนับสนุนว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบนั่นเอง ทั้งมาตรา 30 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ก็มิได้บัญญัติว่า การอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลจะต้องอ้างเหตุผลเช่นเดียวกับที่อ้างในอุทธรณ์ การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธินำประเด็นดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาของศาลภาษีอากร อุทธรณ์ของโจทก์ส่วนนี้ฟังขึ้น เห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยใหม่ ปรากฏว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มแสดงฐานภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่ามูลค่าที่โจทก์ได้รับเป็นจำนวนมากเกินกว่า ร้อยละ 25 ของฐานภาษีที่แสดงในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่ วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี ตามมาตรา 88/6 (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร และปรากฏว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมีนาคม 2542 ในวันที่ 16 มีนาคม 2547 จึงเป็นการประเมินที่ได้กระทำไปไม่เกินกำหนดระยะเวลา 10 ปี ส่วนประเด็นที่ว่ามีเหตุงดหรือลดเบี้ยปรับหรือไม่นั้น ปรากฏว่าตามแบบพิมพ์คำอุทธรณ์ (ภ.ส.6) มีข้อให้โจทก์แสดงความประสงค์ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับด้วย แต่โจทก์อุทธรณ์โดยมีคำขอให้ยกเลิกการประเมินเท่านั้น มิได้มีคำขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้ อันเป็นกรณีที่โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินในประเด็นนี้ ย่อมถือได้ว่า โจทก์ไม่ติดใจโต้แย้งในประเด็นของดหรือลดเบี้ยปรับ ประเด็นนี้จึงยุติตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์ไม่มีสิทธินำประเด็นดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาของศาลภาษีอากร อุทธรณ์ของโจทก์ประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021