เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่8701/2553 
บริษัท เทพวิษณุการ จำกัดโจทก์
กรมสรรพากร ที่ 1 กับพวกรวม 4 คนจำเลย
เรื่อง ภาษีอากร
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 8 มาตรา 91/5 (6) มาตรา 91/15 มาตรา 91/16
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 36 มาตรา 37
ก่อนมีหนังสือแจ้งการประเมินแก่โจทก์ พยานจำเลยได้ตรวจสอบสภาพการดำเนินกิจการของโจทก์ และได้ส่งหนังสือไปยังภูมิลำเนาโจทก์เพื่อเชิญกรรมการผู้จัดการโจทก์ให้มาพบ แต่หนังสือดังกล่าวถูกส่งคืนเพราะไม่มีผู้รับ และได้สอบถามพนักงานในอาคารที่ทำการดังกล่าว ได้รับแจ้งว่าบริษัทโจทก์ย้ายสถานประกอบการไปแล้ว นอกจากนั้นพยานจำเลยยังได้สงหนังสือไปยังภูมิลำเนาของกรรมการผู้จัดการโจทก์ โดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ มีผู้ลงลายมือชื่อรับระบุว่า เกี่ยวพันกับผู้รับโดยเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย จึงฟังได้ว่ามีการส่งหนังสืออื่นถึงโจทก์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นกรณีที่ไม่สามารถส่งได้ตามวรรคหนึ่ง เมื่อเจ้าพนักงานมีหนังสือแจ้งการประเมินแก่โจทก์จึงมีเหตุสมควรที่จะใช้วิธีปิดหนังสือแจ้งการประเมินในที่ซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สำนักงานของโจทก์ ตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยอาศัยข้อมูลส่งทางไปรษณีย์แต่ไม่มีผู้รับและข้อมูลที่ได้จากการตรวจสภาพกิจการของโจทก์ ดังนั้น การดำเนินการของเจ้าพนักงานประเมินมิได้ข้ามขั้นตอนของมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด ถือได้ว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินโดยการปิดหมาย ทั้งโจทก์สามารถอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดแล้วด้วย
หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.73.1) มีข้อความว่า เตรียมแบบโดยนาง จ. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 5 วันที่ 25 พฤษภาคม 2547 และลงชื่อนาง น. เจ้าพนักงานประเมินในท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 13 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 หนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ระบุวันเดือนปีที่ทำคำสั่งและตำแหน่งพร้อมทั้งมีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นแล้วตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
สำหรับประเด็นข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า หนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ขัดต่อมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 นั้น เห็นว่า หนังสือแจ้งการประเมินฉบับพิพาทมีข้อความแสดงรายการเกี่ยวกับ การคำนวณภาษีตามแบบแสดงรายการที่ยื่นไว้ การคำนวณภาษีตามผลการตรวจสอบ การคำนวณยอดแตกต่าง อัตราภาษีที่ร้อยละ 3 ภาษีที่ต้องชำระ และให้โจทก์นำเงินไปชำระภาษี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบางคอแหลม ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รับหนังสือนี้ พร้อมระบุเหตุผลที่ประเมินโจทก์มีรายได้จากการขายห้องชุด แต่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) โจทก์ใช้ฐานในการคำนวณจากราคาขายซึ่งมูลค่าต่ำกว่าราคาทุนทรัพย์ ทำให้โจทก์ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (4) และเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร หนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่จัดให้มีเหตุผล และเหตุผลนั้นอย่างน้อยประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิงและข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจแล้ว จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว ส่วนเหตุผลในการประเมินและข้อกฎหมายที่อ้างอิง ถูกต้องตามประมวลรัษฎากรหรือไม่นั้น เป็นประเด็นต่างหากจากเรื่องหนังสือแจ้งการประเมินมีข้อความตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 หรือไม่ และถึงแม้เจ้าพนักงานประเมินจะไม่ได้ระบุว่าได้อ้างโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 91/16 แห่งประมวลรัษฎากร อนุมาตราใดก็ตามแต่ในหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.73.1) ได้ระบุเหตุผลในการประเมินไว้แล้ว ดังนั้นการไม่ระบุว่าอ้างมาตรา 91/16 แห่งประมวลรัษฎากร อนุมาตราใด ไม่ทำให้โจทก์หลงเข้าใจผิดข้อกฎหมายดังที่โจทก์อุทธรณ์
มาตรา 91/15 และมาตรา 91/16 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ได้บัญญัติเรื่องระยะเวลาการประเมินไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องของรัฐที่เรียกเอาค่าภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี” โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับเดือนภาษีมิถุนายน 2540 ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 แจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะแก่โจทก์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 จึงเป็นการประเมินภายในอายุความ 10 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดยื่นแบบแสดงรายการ
ประเด็นข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายรับจำนวนเท่าใด การที่จำเลยทั้งสี่ไม่มีหลักฐานใดนำสืบให้เห็นว่า ราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นราคาที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะนั้น การเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นไม่มีกฎหมายให้เจ้าพนักงานประเมินกำหนดราคาขายอสังหาริมทรัพย์โดยถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ในกรณีมีข้อสงสัยต้องตีความในทางเป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ภาษีอากรนั้น เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย เชื่อว่าโจทก์มีรายรับจากการขายห้องชุดดังกล่าวเพียง 2,000,000 บาท และโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะครบถ้วนแล้ว จึงให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.73.1) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021