เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่4590/2553 
กรมสรรพากรโจทก์
บริษัทเจริญศรีพลาซ่า สรรพสินค้าจำเลย
เรื่อง ภาษีซื้อต้องห้าม
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 82/3, 82/5(6)

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) มาตรา 82/5(6)

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 12, 37(2) วรรคสาม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368, 406

การที่โจทก์ทำการประเมินให้จำเลยคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับไป โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของหมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอ้างว่าภาษีซื้อที่จำเลยได้รับคืนไปนั้นเป็นภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นการใช้อำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย แม้ต่อมาการประเมินดังกล่าวจะถูกเพิกถอนโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ปลดภาษีที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินเป็นเดือนภาษีกันยายน 2538 เพียงเดือนเดียว และให้เจ้าพนักงานประเมินปรับปรุงการประเมินใหม่ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ทำให้ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารที่จำเลยได้รับคืนไปจากโจทก์ตั้งแต่เดือนภาษีกรกฎาคม 2535 ถึงเดือนภาษีกันยายน 2538 ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นภาษีซื้อต้องห้าม และโจทก์คืนภาษีอากรผิดพลาดนั้นระงับไปด้วย เมื่อโจทก์เห็นว่าภาษีซื้อในกรณีดังกล่าวไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/5 (6) แห่ง ประมวลรัษฎากร โจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนภาษีซื้อดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยเพิกเฉย ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยคืนภาษีซื้อที่ได้รับไปดังกล่าวได้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยถึง 2 ครั้ง ในมูลหนี้เดียวกันอันเป็นการซ้ำซ้อนไม่ เพราะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มต่างเดือนภาษีกับที่จำเลยได้ชำระตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพราะมูลหนี้ดังกล่าวยังไม่ระงับไปตามกฎหมาย
หนังสือแจ้งคำสั่งคืนภาษีอากรผิดพลาดเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในการสั่งให้จำเลยนำภาษีซื้อที่ได้รับไปมาคืนให้แก่โจทก์ อันเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เหตุผลที่โจทก์ต้องใช้อำนาจตามกฎหมายในการออกคำสั่งดังกล่าวก็สืบเนื่องมาจากจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเพราะโจทก์อ้างว่าเป็นภาษีซื้อต้องห้ามไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร โดยก่อนที่จะมีหนังสือดังกล่าวเจ้าพนักงานของโจทก์ได้มีหนังสือเชิญพบให้จำเลยไปรับทราบการเรียกภาษีคืนแล้ว และผู้รับมอบอำนาจของจำเลยได้ไปพบเจ้าพนักงานของโจทก์ตามหนังสือเชิญพบและรับทราบการเรียกภาษีดังกล่าวคืน จึงถือว่าผู้รับมอบอำนาจของจำเลยได้ทราบถึงเหตุผลในการออกคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องระบุเหตุผลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจอีก เนื่องจากเหตุผลนั้นเป็นที่รู้อยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีกตามมาตรา 37 วรรคสาม (2) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 จึงฟังไม่ได้ว่าหนังสือแจ้งสั่งคืนภาษีอากรผิดพลาดของโจทก์เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า เจ้าพนักงานประเมินคิดภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวไม่ถูกต้อง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงคิดให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้นำภาษีซื้อที่เกิดจากรายอื่นหรือนำรายรับอย่างอื่นมาคำนวณเพื่อเรียกเก็บภาษีแต่อย่างใด ทั้งเป็นเดือนภาษีเกี่ยวกับที่เจ้าพนักงานโจทก์ตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยเพิ่มเติมในประเด็นข้ออื่นหรือเป็นการใช้อำนาจของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเก็บภาษีจากจำเลยแต่อย่างใด คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจกระทำได้ ทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองซึ่งทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว จึงมิได้ขัดกับมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แต่อย่างใด
ในขณะทำสัญญาร่วมลงทุนระหว่างจำเลยกับบริษัทซีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด กรรมสิทธิ์ในส่วนเฉพาะอาคารยังเป็นของจำเลย ซึ่งแม้จำเลยมีสิทธินำอาคารนี้ออกขายหรือให้ผู้อื่นเช่าได้ และตามสัญญาร่วมลงทุนประกอบกับเอกสารท้ายสัญญาร่วมลงทุนนี้จะมีข้อตกลงระหว่างจำเลยกับบริษัทซีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด เกี่ยวกับอาคารที่จำเลยตกลงให้บริษัทซีอาร์ อุดรธานี (ประเทศไทย) จำกัด ใช้ว่าเป็นการขายหรือให้เช่าก็ตาม แต่เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยมีกรรมสิทธิ์อยู่เพียง 30 ปี เท่านั้น ย่อมไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ให้บริษัทซีอาร์ อุดรธานี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเจ้าของได้ตลอดไป บริษัทนี้จึงใช้อาคารได้ตามสัญญาเพียง 30 ปี แม้จะต้องเสียค่าตอบแทนมูลค่าการใช้อาคารดังกล่าวตามสัญญาก็ตาม แต่ตามปกติบุคคลที่ตกลงจะเสียค่าตอบแทนเพื่อการใช้อาคารได้ในเวลา 30 ปี และไม่อาจมีกรรมสิทธิ์ตลอดไปได้ น่าจะเลือกทำนิติกรรมเป็นการให้เช่าอาคารโดยเสียค่าตอบแทนตามมูลค่าอันควรสำหรับการได้ประโยชน์จากการใช้อาคารในช่วงระยะเวลาอันจำกัดเท่านั้น ไม่น่าจะยอมจ่ายค่าตอบแทนสูงเยี่ยงราคาทรัพย์สินที่จะได้กรรมสิทธิ์ตลอดไปอย่างการซื้อทรัพย์สินแต่อย่างใด จึงเชื่อได้ว่าเจตนาอันแท้จริงระหว่างจำเลยกับบริษัทซีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการให้บริษัทซีอาร์ อุดรธานี (ประเทศไทย) จำกัด ใช้อาคาร 30 ปี นี้ ที่เป็นไปตามปกติประเพณีโดยสุจริตเป็นการเช่าอาคาร โดยจำเลยได้กระทำนิติกรรมให้เช่าอาคารภายใน 3 ปี นับแต่เดือนที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวที่จำเลยได้รับคืนไปจากโจทก์จึงเป็นภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 แห่ง ป.รัษฎากร ประกอบประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (6) แห่ง ป.รัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2535 ข้อ 2 (4) จำเลยไม่อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล จึงฟังเป็นยุติว่ามีภาษีซื้อต้องห้าม

การที่โจทก์คืนภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารให้แก่จำเลยเป็นเพราะจำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี และเป็นกรณีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย จำเลยขอคืนภาษีซื้อจากโจทก์ เมื่อโจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยมีสิทธิขอคืนภาษีซื้อตามกฎหมาย โจทก์จึงคืนเงินค่าภาษีดังกล่าวให้แก่จำเลยเป็นเงินสด ดังนั้น การที่จำเลยได้ภาษีซื้อคืนมานั้นมิใช่เป็นการได้มาโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงมิใช่เป็นมูลหนี้ลาภมิควรได้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ศาลฎีกา/ย่อ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021