เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่2937/2553 
นายสมชาย สุขทวีโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง คณะบุคคล อายุความ การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร

กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากรมาตรา 77/2 80/1(3) 82/5(3) 89(4)

พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3(6)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 มาตรา 191/12 มาตรา 193/31

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2533 โจทก์และนาง พ. ร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 5975 และเลขที่ 41099 พร้อมสิ่งปลูกสร้างต่อมาโจทก์และนาย พ. จดทะเบียนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงต่อธนาคารฯ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2536 โจทก์และนาง พ.ร่วมกันขายที่ดินทั้งสองแปลงพร้อม สิ่งปลูกสร้างในราคา9,000,000.-บาทซึ่งที่ดินมีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน18,701,952.-บาท เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2537 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) รายรับจากการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 41099 ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เงินเพิ่ม เบี้ยปรับและภาษีส่วนท้องถิ่นรวม 123,997.50 บาท และเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2538 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) รายรับจากการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 5975 ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เงินเพิ่ม เบี้ยปรับและภาษีส่วนท้องถิ่นรวม 125,111.25 บาท วันที่ 13 มิถุนายน 2538 เจ้าหน้าที่ของจำเลยส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.73.1) ให้โจทก์ในฐานะคณะบุคคลนาย ส. และนาง พ. ชำระภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีท้องถิ่นรวม 2,468,658 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 ให้ลดภาษี งดเบี้ยปรับแก่โจทก์และปรับปรุงการคำนวณภาษีใหม่ คงเรียกเก็บทั้งสิ้น 1,044,620.08 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัย 4ประเด็น ประเด็นแรก โจทก์และนาง พ. ร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 5975 และเลขที่ 41099 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในวันเดียวกันโดยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันไม่มีการกำหนดส่วนของการถือกรรมสิทธิ์ชัดเจนว่า ของผู้ใดอยู่ในส่วนใด เนื้อที่เท่าใด จึงถือได้ว่าโจทก์และนาง พ. เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกันและมีส่วนเท่ากัน ตามมาตรา 1357 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หลังจากโจทก์และนาง พ.ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแล้ว โจทก์และนาง พ. ร่วมกันนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจดจำนองต่อธนาคารทั้งยังได้นำที่ดินดังกล่าวไปเป็นประกันการกู้ยืมเงินของสามีนาง พ. ต่อธนาคารตลอดจนโจทก์และนาง พ. ยังจดทะเบียนขายที่ดินทั้งสองโฉนดและสิ่งปลูกสร้างพร้อมกันในวันเดียวกันด้วยพฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวจึงเป็นกิจการซื้อและขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่2 คนขึ้นไปที่ไม่ใช่นิติบุคคลต้องด้วยคำนิยามคำว่าคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลตามมาตรา 91/1 ประกอบมาตรา 77/1(3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้ การที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินให้โจทก์และนาง พ. เสียภาษีธุรกิจเฉพาะในนามคณะบุคคลนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ประเด็นที่สอง โจทก์และนาง พ. ร่วมกันซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2533 และขายไปเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2536 มีระยะเวลาถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเพียงระยะเวลาประมาณ 3 ปี จึงเป็นระยะเวลาอันสั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์และนาง พ. ใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สมประโยชน์กับที่อ้างว่าซื้อเพื่ออยู่อาศัยแต่อย่างใด กรณีของโจทก์เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534
ประเด็นที่สาม การขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2536 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคือ คณะบุคคลนาย ส.(โจทก์) และนาง พ. แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในนามคณะบุคคลภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปตามมาตรา 91/10 วรรคสองแห่งประมวลรัษฎากร คือภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2536 ตามมาตรา 191/12 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2536 และตามมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรให้มีกำหนด 10 ปี จึงครบ 10 ปี ในวันที่ 16 มิถุนายน 2546 เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยนำหนังสือแจ้งการประเมินไปปิดไว้ ณ ประตูทางเข้าบ้านของโจทก์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2546 ตามบันทึกการส่งหนังสือแจ้งการประเมินตามมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้ปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าวข้างต้นให้ถือว่าโจทก์เป็นอันได้รับแล้ว การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะของเจ้าพนักงานประเมินซึ่งกระทำภายใน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
ประเด็นสุดท้าย กรณีโจทก์ยื่นแบบชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่น เป็นการยื่นโดยหน่วยภาษีบุคคลธรรมดาคือตัวโจทก์ไม่ใช่ในนามคณะบุคคลนาย ส. และนาง พ. ตามที่ถูกแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นำเงินที่โจทก์ชำระไว้แล้วหักภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นตามลำดับ จากนั้นคำนวณรายการที่ต้องชำระเพิ่มเติมเป็นภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่น จึงไม่ถูกต้องตามมาตรา 328 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะไม่ใช่กรณีคณะบุคคล นาย ส. และนาง พ. ยื่นแบบชำระภาษีโดยระบุว่า ชำระหนี้สินภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่น ตามมาตรา 328 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ว่ามาตรา 27 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ถือเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินภาษี แต่หนี้ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นหนี้ที่มีมาก่อนเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ ดังนี้ หนี้ภาษีธุรกิจเฉพาะย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนหนี้เงินเพิ่ม เบี้ยปรับและภาษีส่วนท้องถิ่น เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้นำภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่น ที่โจทก์ได้ชำระไว้ก่อนแล้ว ในหน่วยภาษีบุคคลธรรมดามาหักกับส่วนที่โจทก์ต้องชำระในนามคณะบุคคลนาย ส. และนาง พ. ได้ ก็ชอบที่จะให้นำไปหักค่าภาษีธุรกิจเฉพาะตามการประเมินนั้นก่อน เพราะเป็นหนี้สินรายที่ตกหนักสุดแก่ลูกหนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยให้นำเงินจำนวน 123,997.50 บาท ซึ่งโจทก์ยื่นแบบชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2537 ได้ปลดเปลื้องภาษีธุรกิจเฉพาะตามการประเมินจากนั้นจึงคิดเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นต่อไป และนำเงินจำนวน 125,111.25 บาท ซึ่งโจทก์ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2538 ได้ปลดเปลื้องภาษีธุรกิจเฉพาะที่คงเหลืออยู่ จากนั้นจึงคิดเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียม ชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021