คำพิพากษาฎีกาที่2096/2553 | |
บริษัท ไพโอเนียอินดัสเตรียล จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่องการส่งออกสินค้า | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา77/1 (13) มาตรา 77/1 (14) มาตรา 77/1 (5) มาตรา 77/2 | |
มาตรา 80/1 (1) มาตรา 82/4 และมาตรา 86 | |
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการผลิตและขายตลอดจนส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ทำด้วยพลาสติก บริษัท อ. ประกอบกิจการส่งออก ขายปลีก ขายส่ง เสื้อผ้า รองเท้า เคมีภัณฑ์ อาหาร เมื่อปี 2543 ถึง 2544 โจทก์ยื่นใบสินค้าขาออกสินค้าประเภทปิ่นโตสแตนเลส ตรานกยูง ไปยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียโดยระบุชื่อและที่อยู่ของโจทก์เป็นผู้ส่งออกรวม 4 ครั้ง รวมเป็นมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งสิ้น 4,401,741.04 บาท ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) จากเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยอ้างว่า บริษัท อ. เป็นผู้ส่งออกทั้งสี่ครั้งดังกล่าว ส่วนโจทก์เป็นเพียงผู้ขายสินค้าในประเทศ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 และต้องจัดทำใบกำกับภาษีขายให้แก่บริษัท อ. มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้ส่งออกสินค้าซึ่งมีสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่าตามบทบัญญัติมาตรา 77/1 (13) 77/1 (14) และมาตรา 77/1 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการซึ่งถือว่าเป็นผู้ส่งออกและมีสิทธิชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หมายถึง บุคคลที่ขายสินค้าซึ่งส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นาย ว. กรรมการผู้จัดการบริษัท อ. ซึ่งประกอบกิจการในประเทศไทยเป็นผู้สั่งซื้อสินค้ารายพิพาททั้งสี่ครั้ง มิใช่เป็นคำสั่งซื้อจากบริษัทในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย โจทก์กับบริษัท อ. ลงชื่อร่วมกันในเอกสารคำสั่งซื้อ (Performa) แต่มีหลักฐานการชำระเงินจากบริษัท อ. โดยที่บริษัท อ. เป็นผู้จัดทำเอกสารการชำระเงิน และการขายสินค้าเดือนกุมภาพันธ์ 2544 นั้น มีการชำระราคาสินค้าแล้ว อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงว่าโจทก์ได้รับชำระค่าสินค้าจากบริษัท อ. มิใช่จากผู้ซื้อสินค้าในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย จึงฟังได้ว่า โจทก์ตกลงซื้อขายกับบริษัท อ. อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับผู้ซื้อในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย โจทก์ต้องจัดทำใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท อ. ตามมาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีของโจทก์ไม่เข้าลักษณะเป็นการส่งออกตามมาตรา 77/1 (13) และ (14) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีบริษัทในเครือคือ บริษัท พ. เป็นผู้ซื้อสินค้าไปจำหน่าย โจทก์ไม่จำเป็นต้องขายสินค้าให้แก่บริษัท อ. โดยไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 0 และโจทก์มิได้ออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท อ. แสดงว่าโจทก์เป็นผู้ส่งออกสินค้านั้น เห็นว่าเป็นกรณีความเข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนของโจทก์ ซึ่งเป็นผลให้โจทก์ต้องรับผิดตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าบริษัท อ. เป็นตัวแทนของผู้ซื้อในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ การที่โจทก์ขายสินค้าให้แก่ บริษัท อ. จึงเป็นการขายสินค้าผ่านตัวแทนของผู้ซื้อในต่างประเทศ โจทก์จึงเป็นผู้ส่งออกนั้น ได้ความจากนาย ว. พยานจำเลย ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท อ. ว่า บริษัทเอ็นบีทีฯ ไม่แจ้งชื่อผู้ผลิตสินค้าให้ผู้ซื้อในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียเนื่องจากเกรงว่าผู้ซื้อในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียจะติดต่อกับผู้ผลิตสินค้าโดยตรง เมื่อบริษัท อ. ซื้อสินค้าจากโจทก์แล้วจะทำเอกสารเกี่ยวกับการส่งออกอีกชุดหนึ่ง โดยเพิ่มราคาสินค้าที่ซื้อมาจากโจทก์เป็นกำไรจากการขายสินค้าและเปลี่ยนชื่อผู้รับสินค้าปลายทางจากเดิม Mr. R. เป็นบริษัท S. เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะบริษัท อ. ไม่ประสงค์ให้โจทก์ขายสินค้าแก่บริษัท S. โดยตรง และบริษัท อ. นำตัวอย่างสินค้าไปให้ผู้ซื้อในต่างประเทศพิจารณาเมื่อลูกค้าสั่งซื้อแล้ว บริษัท อ. ก็หาซื้อสินค้า ที่ผลิตในประเทศไทยส่งไปให้ตามคำสั่งซื้อนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าบริษัท อ. เป็นเพียงตัวแทนซึ่งไม่เปิดเผยชื่อตัวการตามที่โจทก์อุทธรณ์ และที่โจทก์อุทธรณ์ว่าในใบขนสินค้าขาออกมีชื่อโจทก์เป็นผู้ส่งออกนั้น ได้จากคำเบิกความ ของนาย ว. ว่า การส่งออกสินค้าพิพาท บริษัท อ. เป็นผู้จองระวางเรือและเป็นผู้แจ้งรายละเอียดประเภทสินค้า ชื่อผู้ส่งออกและผู้รับสินค้าแก่บริษัทตัวแทนเรือเอง ซึ่งสอดคล้องกับใบตราส่งที่ระบุว่าบริษัท อ. เป็นผู้ส่งออก อันเป็นข้อสนับสนุนว่าบริษัท อ. เป็นผู้ขายสินค้ารายพิพาทเพื่อส่งออกต่างประเทศ การที่ใบขนสินค้าขาออกมิได้จัดทำในนามของบริษัท อ. แต่จัดทำในนามของโจทก์ก็ไม่ทำให้บริษัท อ. ไม่ใช่ผู้ส่งออก เพราะการจะเป็นผู้ส่งออกหรือไม่ ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น มิใช่พิจารณาจากใบขนสินค้าขาออกดังที่โจทก์อุทธรณ์ |