เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1704/2553 
บริษัท ราชามอเตอร์ร้อยเอ็ด จำกัดโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม สถานประกอบการ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 2, 83 วรรคสี่, 88(1), 88(2), 88/6(1) (ค), 88/6 วรรคท้าย

แม้สถานประกอบการสำนักงานแห่งใหญ่และสถานประกอบการสาขาของโจทก์จะเป็นสถานประกอบการของนิติบุคคลเดียวกัน แต่เมื่อมีการจดทะเบียนเป็นหลายสถานประกอบการย่อมต้องแยกใบกำกับภาษีและคำนวณภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษีออกเป็นของแต่ละสถานประกอบการ การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานประกอบการสาขาเลขที่ 119 โดยนำใบกำกับภาษีซื้อของสถานประกอบการสำนักงานใหญ่เลขที่ 49 ไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานประกอบการสาขา จึงไม่ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 83 วรรคสี่ การกระทำของโจทก์เป็นกรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีของสถานประกอบการสาขาโดยแสดงจำนวนภาษีที่ต้องเสียต่ำกว่าความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มแก่โจทก์ได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88 (2)
แม้คำว่า “อธิบดี” จะหมายความรวมถึงผู้ที่อธิบดีมอบหมายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 2 แต่จำเลยไม่นำสืบให้ปรากฏว่าสรรพากรภาค 10 เป็นผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมายให้มีอำนาจอนุมัติให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีแทนอธิบดีกรมสรรพากรได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ สำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์ มีนาคม พฤษภาคม มิถุนายน สิงหาคม กันยายน และพฤศจิกายน 2540 จึงไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 88/6 วรรคท้าย สำหรับเดือนภาษีมกราคม 2540 โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานประกอบการเลขที่ 119 คงยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานประกอบการสำนักงานใหญ่เลขที่ 49 เท่านั้น จึงถือว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานประกอบการสาขาเลขที่ 119 ภายในกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ได้ภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยไม่ต้องขออนุมัติการประเมินต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88 (1) ประกอบมาตรา 88/6 (1) (ค)

ศาลฎีกาย่อ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021