เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1041/2553 
กรมสรรพากรโจทก์
นายน้อย พรหมจรรย์จำเลย
เรื่อง ล้มละลาย บังคับคดี
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคสองและวรรคสาม, 12 วรรคสี่, 30

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า จำเลยต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์คิดคำนวณภาษีอากรไม่ถูกต้อง และจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ภาษีอากร เพียง 630,949 บาท เมื่อการคำนวณหนี้ภาษีอากรตามแบบแจ้งการประเมินไม่ถูกต้องโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดเบี้ยปรับเงินเพิ่มจากจำเลย จำเลยเป็นหนี้โจทก์ไม่เกิน 1,000,000 บาท และโจทก์ไม่มีอำนาจประเมินให้จำเลยชำระภาษี เนื่องจากได้การออกหมายเรียกจำเลยมาไต่สวนเกินระยะเวลา 2 ปี เห็นว่า เมื่อมีการดำเนินการประเมินและแจ้งการประเมินให้จำเลยชำระภาษีอากรนั้น โจทก์ได้ดำเนินการส่งแบบแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบแล้ว โดยเจ้าพนักงานเป็นผู้นำส่งให้แก่จำเลยโดยวิธีปิดหมายไว้ที่ภูมิลำเนาของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 จึงถือได้ว่าจำเลยได้ทราบการประเมินโดยชอบแล้ว เมื่อจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 หนี้ภาษีอากรดังกล่าวจึงเป็นหนี้เด็ดขาด จำเลยจะต้องรับผิดชำระหนี้ตามที่เจ้าพนักงานได้ประเมินไป
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า โจทก์นำหนี้ภาษีอากรค้างมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายภายในกำหนดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์นำมูลหนี้ภาษีอากรซึ่งเป็นหนี้ภาษีอากรค้างมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายนั้น โจทก์จะต้องนำมาฟ้องภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิที่จะบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ประกอบประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ คดีนี้ปรากฏว่าเจ้าพนักงานได้ปิดหนังสือแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 16
กุมภาพันธ์ 2539 จึงถือว่าจำเลยได้รับแจ้งการประเมินในวันดังกล่าวตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคสองและวรรคสาม จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในเวลา 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 17มีนาคม 2539 แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวจึงเป็นหนี้เด็ดขาดเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ โจทก์ย่อมมีสิทธินำมูลหนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายภายในเวลา 10 ปี นับแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนด 10 ปี ในวันที่ 17 มีนาคม 2549 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยล้มละลาย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2548 ภายในกำหนดเวลาที่โจทก์ยังมีสิทธิบังคับคดีได้อยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

ศาลฎีกาย่อ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021