เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่10701/2554 
นางสาวอุบลรัตน์ ชื้อวัฒนานุกูรโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง การขอคืนเงินภาษีอากร
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา27 ตรี มาตรา 30
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 มาตรา 9

โจทก์ให้นาง จ. กู้ยืมเงินจำนวน 3,900,000.- บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีโดยให้ถือสัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงิน มีกำหนดไถ่ถอนภายในระยะเวลา 1 ปี โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาระบุว่า มีเงินได้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตั้งแต่ปีภาษี 2535 ถึงปี 2540 มีภาษีอากรที่ต้องชำระ จำนวน 54,750.- บาท 46,700.- บาท 62,000.- บาท 45,000.- บาท 44,050.- บาท และ 52,000.- บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน304,500.- บาท เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2541 โจทก์ยื่นฟ้องนาง จ. เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสมุทรสาคร ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2542 ศาลจังหวัดสมุทรสาครมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2004/2542 ว่า นาง จ. ไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์จึงยื่นคำร้อง (ค.10) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2543 ขอคืนเงินภาษีอากรสำหรับปีภาษี 2535 ถึง 2540 รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 304,500.- บาท วันที่ 4 ตุลาคม 2550 จำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร วันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 โจทก์ยื่นอุทธรณ์หนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร และวันที่ 12 มีนาคม 2551 จำเลยได้รับหนังสือเรื่องการโต้แย้งการขอคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 โดยระบุว่า จำเลยยอมคืนเงินภาษีอากรแก่โจทก์เฉพาะปีภาษี 2540 ส่วนปีภาษี 2535 ถึง 2539 ไม่คืนภาษีอากรให้ เพราะโจทก์ยื่นคำร้องเกินกว่าสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์ไม่เห็นด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า จำเลยต้องคืนเงินค่าภาษีอากรสำหรับปีภาษี 2535 ถึง 2539 พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ศาลเห็นว่า ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่... (2) ในกรณีผู้มีสิทธิขอคืนอุทธรณ์การประเมินตามหมวดนี้ หรือเป็นคดีในศาล ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินเป็นหนังสือหรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี”ตามบทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับกับผู้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีรวมถึงบุคคลที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรด้วย เมื่อโจทก์อ้างว่าเป็นผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากร แต่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2535 ถึง 2539 ว่ามีเงินได้ประเภทดอกเบี้ยเงินกู้ยืม และได้ชำระภาษีรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 252,500.- บาท โจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในสามปี นับแต่วันสุดท้าย แห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรในวันที่ 20 ธันวาคม 2543 สำหรับปีภาษีดังกล่าวจึงเป็นการยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับกรณีผู้มีสิทธิขอคืนอุทธรณ์การประเมินตามหมวดนี้หรือเป็นคดีในศาลให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินเป็นหนังสือหรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณีตามมาตรา 27 ตรี (2) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น คำว่า เป็นคดีในศาล หมายถึงคดีฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลตามมาตรา 30(2) แห่งประมวลรัษฎากร หรือฟ้องร้องคดีโดยเป็นคู่ความกับกรมสรรพากรอ้างว่าตนไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี มิใช่เป็นการฟ้องคดีแพ่งทั่วไประหว่างตนกับบุคคลอื่น แล้วนำผลของคดีมาอ้างขยายเวลาขอคืนภาษี และกรณีของโจทก์มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการขอคืนเงินภาษีอากรไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตามมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับกับกรณีของโจทก์ได้ เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ได้รับชำระดอกเบี้ยจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีหากเป็นจริงดังที่โจทก์อ้างก็ไม่มีเหตุผลที่โจทก์ต้องเสียภาษีไปก่อนหลายปีภาษีโดยไม่ฟ้องเรียกร้องจากลูกหนี้และยังไม่ขอคืนเสียภายในเวลาสามปีตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ตามมาตรา 7(3) ประกอบมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า มาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ใช้บังคับกับผู้เสียภาษีอากรหรือผู้มีหน้าที่ยื่นรายการในกรณีโดยทั่วไปในการขอคืนภาษีอากรเนื่องจากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเกินไปจากจำนวนที่ต้องเสียจริง หรือชำระค่าภาษีมากกว่าจำนวนที่ต้องเสียจริงอันเกิดจากการคำนวณผิดพลาดไป หรือกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีสิทธิขอคืนได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้มีสิทธิขอคืนเหล่านั้นต้องยื่นคำร้องตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่กรณีของโจทก์ไม่มีรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย จำเลยไม่มีอำนาจเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ต้องเสียภาษีอากรหรือผู้ต้องยื่นรายการตามที่บังคับไว้ในประมวลรัษฎากร การที่จำเลยไม่ยอมคืนเงินภาษีอากรตั้งแต่ปีภาษี 2535 ถึง 2539 เท่ากับเป็นการเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์ผู้ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีอากรหรือเป็นผู้ไม่ต้องยื่นรายการ จึงเป็นการเรียกเก็บภาษีอากรไว้โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เป็นการยึดเงินของโจทก์ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์เป็นเจ้าของเงินจำนวน 252,500.- บาท จึงมีสิทธิติดตามเอาคืนเงินของตนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น

 

ปรับปรุงล่าสุด: 14-02-2021