เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่10699/2554 
บริษัท ช. สยามยูไนเต็ด ดีวีล็อปเม้นท์ จำกัดโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง การขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์การประเมิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 3 อัฏฐ

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมกราคม ถึงธันวาคม 2547 รวมเป็นเงินจำนวน 3,027,884.56 บาท โดยส่งให้โจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของโจทก์ ซึ่งมีผู้รับหนังสือดังกล่าวไว้ วันที่ 13 มกราคม 2549 โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พร้อมกับหนังสือขอขยายกำหนดเวลาอุทธรณ์วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 สรรพากรภาค 3 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งไม่อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาอุทธรณ์ วันที่ 13 มีนาคม 2549 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่ออธิบดีกรมสรรพากร วันที่ 18 ตุลาคม 2549 รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งไม่อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาอุทธรณ์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่าคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลเห็นว่า โจทก์อุทธรณ์ว่า สาเหตุที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายเนื่องจาก นาง ส. พนักงานบัญชีที่เป็นคนรับหนังสือแจ้งการประเมินป่วยเป็นโรคมะเร็ง และหยุดงานบ่อย ต่อมาได้ออกจากงานไปโดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบ โดยโจทก์มีนางสาว ก. กรรมการโจทก์เบิกความว่า โจทก์อุทธรณ์เกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย เนื่องจากพนักงานของโจทก์เก็บเอกสารของจำเลยไว้ เมื่อโจทก์ทราบก็รีบติดต่อจำเลยและแจ้งเหตุดังกล่าวให้ทราบ ประกอบกับเอกสารมีจำนวนมาก เสียเวลาในการรวบรวมข้อมูล ทำให้ไม่สามารถอุทธรณ์การประเมินได้ทันภายในกำหนดเวลา โดยนางสาว ก. เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า แผนกบัญชีของโจทก์นอกจากจะมีนาง ส. แล้ว ยังมี นาง ภ. และนางสาว อ. เป็นพนักงานบัญชีด้วย ส่วนจำเลยมี นาง ม. เบิกความว่า วันที่ 8 มิถุนายน 2548 นาง ม. เจ้าพนักงานประเมินของจำเลย เข้าตรวจสอบกิจการของโจทก์พบนาง ภ. พนักงานบัญชีของโจทก์ แจ้งว่า โจทก์ไม่มีเอกสารใดให้ตรวจสอบ จึงนัดให้โจทก์ไปพบภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2548 แต่โจทก์มิได้ไปพบ วันที่ 24 มิถุนายน 2548 เจ้าพนักงานประเมินจึงมีหนังสือเชิญโจทก์ไปพบและนำส่งเอกสารประกอบการตรวจในวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวแต่มิได้ไปพบ วันที่ 17 สิงหาคม 2548 เจ้าพนักงานประเมินจึงออกตรวจปฏิบัติการ โดยมีนางสาว อ. พนักงานบัญชีโจทก์เป็นผู้รับการตรวจโดยให้ถ้อยคำว่า กรรมการบริษัทโจทก์ไม่อยู่ จึงไม่สามารถชี้แจงและนำส่งเอกสารได้ เจ้าพนักงานประเมินจึงนัดให้โจทก์ไปพบและนำส่งเอกสารในวันที่ 19 สิงหาคม 2548 และในวันที่ 6 กันยายน 2548 แต่โจทก์มิได้ไปพบโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องเจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มและส่งหนังสือเชิญพบลงวันที่ 25 ตุลาคม 2548 โดยนัดให้โจทก์ไปพบในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 เพื่อทราบผลการตรวจสอบภาษีอากรดังกล่าว โจทก์ได้รับหนังสือเชิญพบแล้ว แต่ไม่ไปพบ วันที่ 1 ธันวาคม 2548 จำเลยส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มให้โจทก์ทราบโดยทางไปรษณีย์ โดยโจทก์มิได้ถามค้าน นาง ม. ให้เห็นข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ทราบถึงการถูกเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยตรวจสอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีพิพาทมาตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2548 โดยมีนาง ภ. และนางสาว อ. พนักงานบัญชีของโจทก์ซึ่งทำงานอยู่ในแผนกเดียวกันกับนาง ส. รับรู้การที่โจทก์ถูกตรวจสอบด้วย แม้นางสาว ก. จะเบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่า นาง ภ. และนางสาว อ. ได้ออกไปจากบริษัทโจทก์ก่อนที่จะมีการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในคดีนี้ และโจทก์พยายามติดตามตัวนาง ส. ที่บ้านพักแต่ไม่พบ ก็เป็นการเบิกความโดยไม่มีพยานบุคคล หรือพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุน ทั้งยังขัดกับคำฟ้องของโจทก์ที่ว่า โจทก์ต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลและติดต่อกับนาง ส. ทำให้อุทธรณ์การประเมินไม่ทันเวลาตามที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่โจทก์อุทธรณ์การประเมินไม่ทันภายในกำหนดระยะเวลามิได้เป็นเพราะพนักงานของโจทก์ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบแต่เป็นความผิดพลาดของโจทก์เองกรณีโจทก์จึงไม่มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาในการยื่นอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

 

ปรับปรุงล่าสุด: 14-02-2021