คำพิพากษาฎีกาที่7536/2554 | |
นายสุทธิ ภู่เอี่ยม | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง |
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 39 มาตรา 42 |
กฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) |
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2523 ข้อ 13 ที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535 ข้อ 8 |
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39บัญญัติว่า“เงินได้พึงประเมิน”หมายความว่า “เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆ ตามมาตรา 40 และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ ด้วย” นอกจากนี้ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติถึงประเภทเงินได้พึงประเมินไว้ว่ารวมถึง (1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เมื่อโจทก์ได้รับค่าพาหนะเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งเป็นรายเดือนเท่ากันทุกเดือน ถือได้ว่าค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งนั้น เป็นเงินที่โจทก์ได้รับเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น จากการทำงานนอกเหนือไปจากเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งซึ่งคิดคำนวณได้เป็นเงิน จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเงินได้พึงประเมินนี้ไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2509 แต่อย่างใด แม้เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งที่โจทก์ได้รับนั้นจะเป็นการจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับประโยชน์ที่ได้จากการใช้รถประจำตำแหน่งก็ตาม แต่เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายที่โจทก์ได้รับมาแล้วย่อมตกเป็นของโจทก์โดยไม่มีข้อบังคับหรือข้อจำกัดการใช้จ่ายเงินนี้ โจทก์ใช้จ่ายได้อย่างอิสระ อาจนำไปซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ประเภทใด ราคาเท่าใด และอาจเหลือเงินเป็นประโยชน์แก่โจทก์เองก็ได้ เมื่อพ้นจากตำแหน่งก็ยังมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้นต่อไป จึงเป็นเงินได้ทำนองเดียวกับเงินเดือนของโจทก์ กรณีจึงแตกต่างไปจากรถประจำตำแหน่ง ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้เฉพาะข้าราชการระดับสูงระดับรองอธิบดี อธิบดีหรือปลัดกระทรวงและตามข้อ 13 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2523 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรถราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535 ข้อ 8 กำหนดว่า รถประจำตำแหน่งให้ใช้ในการปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ หรือที่ได้รับมอบหมายโดยชอบ หรืองานที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับงานในตำแหน่งหน้าที่หรือฐานะที่ดำรงตำแหน่งนั้น รวมตลอดถึงการใช้เพื่อเดินทางไปกลับระหว่างที่พักและสำนักงาน และเพื่อการอื่นที่จำเป็นและเหมาะสมแก่การดำรงตำแหน่งหน้าที่ในหมู่ราชการและสังคม ดังนั้น รถประจำตำแหน่งจึงต้องใช้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นสำคัญ เปรียบได้กับ กรณีที่ข้าราชการใช้เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องปรับอากาศของทางราชการในการปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ผลงานตามวัตถุประสงค์ของทางราชการและเมื่อพ้นจากตำแหน่งก็ไม่มีสิทธิในรถประจำตำแหน่งอีกเลย การได้รับรถประจำตำแหน่งจึงมิได้เป็นประโยชน์ที่ได้รับส่วนตัวอันจะถือเป็นเงินได้พึงประเมิน เมื่อสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งกับสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญอันเป็นเหตุให้เกิดผลทางกฎหมายในอันที่จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่แตกต่างกันแม้เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งจะมีที่มาจากรถประจำตำแหน่งดังที่โจทก์อ้างก็มิใช่เป็นเหตุผลโดยกฎหมายอันจะทำให้เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งไม่เป็นเงินได้พึงประเมิน |