คำพิพากษาฎีกาที่7534/2555 | |
บริษัท ทอร์ เทรดเดอร์ ชิปปิ้ง จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร ที่ 1 กับพวก รวม 4 คน | จำเลย |
เรื่อง การจัดให้มีเหตุผลในการประเมิน และกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม |
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา77/2 มาตรา80/1(3) มาตรา 82/5(3) มาตรา 89/(4) |
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 37 |
หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีที่พิพาทระบุว่า เจ้าพนักงานของจำเลยได้แจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับสำหรับเดือนภาษีที่พิพาทโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 88 88/2 88/5 89(4) และ89/1 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นการระบุถึงข้อกฎหมายที่อ้างอิงแล้วนอกจากนี้ในใบแนบหนังสือแจ้งการประเมินยังได้ระบุเหตุผลในการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มว่า จากการตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่มปรากฏว่า โจทก์ประกอบกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล ชื่อ ทอร์ เทรดเดอร์ ในเดือนที่ตรวจปฏิบัติการเรือดังกล่าวให้บริการนอกราชอาณาจักรซึ่งฐานภาษีไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อที่โจทก์แสดงไว้ในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) เป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากรเป็นการระบุถึงข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญทั้งข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนการใช้ดุลพินิจในการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับสำหรับเดือนภาษีพิพาทถือว่าหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีพิพาทเป็นคำสั่งทางปกครองที่จัดให้มีเหตุผลชอบด้วยมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 การดำเนินธุรกิจของโจทก์ที่ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ จากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งโดยเรือเดินทะเล มีการประกอบกิจการหลายกิจการ ทั้งให้บริการขนส่งสินค้าจากในราชอาณาจักรออกไปยังนอกราชอาณาจักรจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรและจากนอกราชอาณาจักรแห่งหนึ่งไปยังนอกราชอาณาจักรแห่งหนึ่ง แม้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 80/1(๓) จะไม่ได้ให้ความหมายไว้ว่า “การขนส่งระหว่างประเทศ” หมายถึงกิจการในลักษณะใดบ้างก็ตาม แต่บทบัญญัติในมาตราดังกล่าวก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร การพิจารณาว่ากิจการส่วนใดของโจทก์อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงต้องแยกพิจารณาเป็นรายกิจการ หาใช่ว่าเป็นกิจการของโจทก์เป็นการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งแล้วจะถือเป็นกิจการที่ทำในราชอาณาจักรและอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด กิจการของโจทก์ในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้านอกราชอาณาจักรจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งมีลักษณะเป็นการให้บริการและใช้บริการนั้นนอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น แม้โจทก์ทำธุรกรรมการประสานงานหรือการติดต่อลูกค้าในราชอาณาจักรเป็นเรื่องการบริหารจัดการภายในของโจทก์เอง ถือว่าเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนใดได้ทำหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีซื้อที่เกี่ยวกับกิจการในส่วนนี้ย่อมไม่อาจนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของโจทก์ตามมาตรา 82/5(๓) แห่งประมวลรัษฎากร การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีพิพาทที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป จึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89(๔) แห่งประมวลรัษฎากร |