เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่4848/2555 
นางวิไลวรรณ อาจาริยานนท์ กับพวกรวม 3 คนโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง การขอคืนเงินภาษีอากรโดยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 มาตรา 246

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29

โจทก์ทั้งสามร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทจาก นาง ท. โจทก์ทั้งสามชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ภาษีหัก ณ ที่จ่ายและค่าอากรแสตมป์ด้วยแคชเชียร์เช็คและเงินสดจำนวนหนึ่ง ต่อมานาง ท. กับพวกฟ้องโจทก์ทั้งสามขอให้เพิกถอนนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาท ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่นาง ท. โดยให้โจทก์ทั้งสามเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียม ค่าภาษี และค่าใช้จ่ายอื่นใดทั้งสิ้น ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1203/2541 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรประเภทภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและค่าอากรแสตมป์จากจำเลยจำเลยมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่คืนเงินภาษีอากรแก่โจทก์ทั้งสาม ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องขอคืนภาษีในคดีนี้ เนื่องจากศาลฎีกามีคำพิพากษาฎีกาที่ 1203/2541 ให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสามกับ นาง ท. โดยให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่นาง ท. และเหตุที่ศาลฎีกาพิพากษาเช่นนั้นก็เนื่องจากฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของนาง ท. และโจทก์ทั้งสาม ซึ่งเป็นจำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าวว่าโจทก์ทั้งสามมีส่วนรู้เห็นกับบรรดานายหน้าของฝ่ายโจทก์ทั้งสามและนายหน้าของนาง ท. ในการวางแผนฉ้อฉลหลอกลวงนาง ท. ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับประโยชน์ สามารถจดทะเบียนนิติกรรมซื้อที่ดินพิพาทของนาง ท. ได้สำเร็จทั้งที่โจทก์ทั้งสามไม่เคยพบทำความตกลงกับนาง ท. ผู้ขาย ไม่เคยไปตรวจสอบแนวเขตหรือไม่ดูที่พิพาททั้ง ๆ ที่เป็นการซื้อที่ดินด้วยเงินจำนวนมาก และเหตุผลอีกประการหนึ่งที่สนับสนุนให้เชื่อว่า โจทก์ทั้งสามมีส่วนรู้เห็นในการฉ้อฉลหลอกลวงนาง ท. ก็คือโจทก์ทั้งสามทราบดีว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทนี้ นาง ท. ซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องเป็นฝ่ายชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรการจดทะเบียนการโอน แต่ความกลับปรากฏว่า โจทก์ทั้งสามได้เตรียมแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายเงินค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรการจดทะเบียนการโอนต่อกระทรวงการคลังและเป็นผู้ชำระเงินดังกล่าวเองจึงเป็นที่ยืนยันได้ว่าโจทก์ทั้งสามได้ดำเนินการและเตรียมการต่างๆไว้พร้อมสรรพ เพื่อเป้าหมายที่จะทำการจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทให้แล้วเสร็จโดยพลันลับหลังนาง ท. ตามแผนการที่ได้ร่วมวางไว้กับบรรดานายหน้า โดย นาง ท. ยังไม่ได้รับเงินค่าขายที่ดินและมิได้รู้เห็นยินยอมให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสาม ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสามจะเถียงข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่าตนสุจริตและไม่มีส่วนรู้เห็นในการวางแผนฉ้อฉลหลอกลวงนาง ท. อันแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้เป็นที่ยุติแล้วนั้นย่อมเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่ผลทางกฎหมายที่ขัดแย้งกับผลตามคำพิพากษาฎีกาที่พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินอันเป็นหลักแห่งข้อหาที่โจทก์กล่าวอ้างเพื่อใช้สิทธิขอคืนภาษีในคดีนี้ทั้งที่ในคดีดังกล่าวโจทก์ทั้งสามในฐานะจำเลยก็ได้มีโอกาสนำสืบพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดีอย่างเต็มที่แล้วจึงเห็นได้ว่าเมื่อโจทก์กล่าวอ้างผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเพื่อใช้สิทธิขอคืนภาษีในคดีนี้ โจทก์ย่อมไม่อาจอ้างข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุผลให้ศาลฎีกาวินิจฉัยเช่นนั้นให้แตกต่างไปจากที่ศาลฎีกาในคดีดังกล่าววินิจฉัยไว้เป็นตรงข้ามเช่นนี้ได้ ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจะฟังตามผลคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวว่า การซื้อขายที่ดินอันเป็นมูลเหตุในการขอคืนภาษีอากร ในคดีนี้มีการเพิกถอนแล้ว ก็ย่อมจะต้องฟังข้อเท็จจริงถึงเหตุอันเป็นที่มาแห่งผลด้วยว่า โจทก์ทั้งสามไม่สุจริตดังที่ศาลฎีกาในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น จึงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสามกระทำโดยไม่สุจริตมาตั้งแต่การชำระค่าภาษีอากรในการจดทะเบียนการโอนที่ดิน และการฟ้องคดีนี้ก็สืบเนื่องมาจากการกระทำอันไม่สุจริตดังกล่าว จึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้ของโจทก์ทั้งสามเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องและปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกานั้นก็เป็นเอกสารท้ายคำฟ้องอันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องของโจทก์อันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนโดยชอบศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามมาตรา 142(5) และมาตรา 246 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในเหตุผล อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น

 

ปรับปรุงล่าสุด: 14-02-2021