เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่4297/2555 
บริษัท ทอร์ซัน ชิปปิ้ง จำกัดโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง การอ้างเหตุผลในหนังสือแจ้งการประเมิน การขนส่งระหว่างประเทศ และกรณีขอลดเบี้ยปรับ

กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากรมาตรา 77/2 80/1(3) 82/5(3) 89(4)

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง

เมื่อหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มระบุถึงข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ทั้งข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนการใช้ดุลพินิจในการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับสำหรับเดือนภาษีพิพาทแล้ว ถือว่าหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่จัดให้มีเหตุผลชอบด้วยตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แล้ว
การดำเนินธุรกิจของโจทก์ที่ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ จากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งโดยเรือเดินทะเล มีการประกอบกิจการหลายกิจการ ทั้งให้บริการขนส่งสินค้าจากในราชอาณาจักรออกไปยังนอกราชอาณาจักร จากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรและจากนอกราชอาณาจักรแห่งหนึ่งไปยังนอกราชอาณาจักรแห่งหนึ่ง แม้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 80/1(๓) จะไม่ได้ให้ความหมายไว้ว่า “การขนส่งระหว่างประเทศ” หมายถึงกิจการในลักษณะใดบ้างก็ตาม แต่บทบัญญัติในมาตราดังกล่าวก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร การพิจารณาว่ากิจการส่วนใดของโจทก์อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงต้องแยกพิจารณาเป็นรายกิจการ หาใช่ว่าเป็นกิจการของโจทก์เป็นการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งแล้วจะถือเป็นกิจการที่ทำในราชอาณาจักรและอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด กิจการของโจทก์ในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้านอกราชอาณาจักรจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งมีลักษณะเป็นการให้บริการและใช้บริการนั้นนอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น แม้โจทก์ทำธุรกรรมการประสานงานหรือการติดต่อลูกค้าในราชอาณาจักรเป็นเรื่องการบริหารจัดการภายในของโจทก์เอง ถือว่าเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนใดได้ทำหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีซื้อที่เกี่ยวกับกิจการในส่วนนี้ย่อมไม่อาจนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ดังนั้น เนื่องจากเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของโจทก์ตามมาตรา 82/5(๓) แห่งประมวลรัษฎากร การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีพิพาทที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป จึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89(๔) แห่งประมวลรัษฎากร
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลดเบี้ยปรับนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงนั้น สำหรับเดือนภาษีที่มีทุนทรัพย์พิพาทเดือนละไม่เกิน 50,000.- บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง สำหรับเดือนภาษีสิงหาคม 2547 นั้น การกระทำของโจทก์อาจทำให้รัฐต้องเสียหาย การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาลดเบี้ยปรับให้ คงเหลือร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์มากแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง

 

ปรับปรุงล่าสุด: 14-02-2021