เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่4295/2554 
นายสุรพจน์ เพชรกรรพุมที่ 1 กับพวกรวม 3 คนโจทก์
กรมสรรพากร ที่ 1 กับพวกรวม 4 คนจำเลย
เรื่อง การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากรมาตรา 91/1 (4) มาตรา 91/2 (6)
มาตรา 3 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534
โจทก์ทั้งสามกับ ก. และ จ. ได้ทำสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนจัดตั้งคณะบุคคลเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อนำที่ดินมาแบ่งเป็นแปลงๆพร้อมทั้งสร้างอาคารแล้วโอนสิทธิการเช่าพร้อมอาคารให้แก่บุคคลทั่วไป ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2540โจทก์ที่ 3 ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อทำการก่อสร้างอาคาร ซึ่งใช้ทุนก่อสร้างประมาณ 66,063,050.- บาท โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อผู้เช่าได้ก่อสร้างตามสัญญาเสร็จลงเมื่อใด ผู้เช่ายอมยกกรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างพร้อมทั้งส่วนควบ สิ่งตรึงตรา เครื่องประกอบและเครื่องอุปกรณ์ให้แก่ผู้ให้เช่าทันทีโดยมีกำหนดระยะเวลาเช่า 24 ปี และมีข้อตกลงให้ผู้เช่าสามารถนำอาคารออกให้เช่าช่วงได้ ระหว่างดำเนินการปลูกสร้างอาคารและจำหน่ายสิทธิการเช่าที่ดินพร้อมอาคารในโครงการ คณะบุคคลได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ทั้งสามและบุคคลในคณะบุคคลให้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนพฤศจิกายน 2541 พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่น เป็นเงินรวม 8,338,808.- บาท ซึ่งคิดจากฐานภาษีต้นทุนที่ใช้ในการก่อสร้างตามสัญญาเช่าจำนวน 66,063,050.- บาท เป็นยอดรายรับในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ
ตามหนังสือสัญญาเช่าระบุว่า ผู้เช่า คือ โจทก์ที่ 3 ไม่ใช่คณะบุคคลจึงไม่อาจฟังว่า คณะบุคคลเป็นผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ คณะบุคคลจึงไม่มีความรับผิดในทางภาษี ศาลเห็นว่า การที่โจทก์ที่ 3 มีชื่อเป็นผู้เช่า เป็นการกระทำตามที่คณะบุคคลมอบหมายซึ่งอยู่ภายในวัตถุประสงค์ของคณะบุคคลอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ทั้งสามไม่มีกรรมสิทธิ์ในอาคารและสิ่งปลูกสร้างนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นการเช่า ซึ่งตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่มีข้อความระบุว่า การเช่าหรือการชำระค่าเช่าเป็นการขาย โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ศาลเห็นว่า โจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในอาคารและสิ่งปลูกสร้าง และตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร คำว่า “ขาย” หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่ายจ่ายโอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสามตกลงให้อาคารและสิ่งก่อสร้างดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเพื่อตอบแทนการที่โจทก์ทั้งสามกับพวก
ได้เช่าใช้ทรัพย์และที่ดิน ย่อมเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสามกับพวกจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของคำว่า “ขาย” ตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสามกับพวกมีไว้เพื่อประกอบกิจการให้เช่าจึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร อยู่ในบังคับที่โจทก์ทั้งสามต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
พยานหลักฐานต่างๆ โจทก์ทั้งสามนำสืบฟังได้ว่า ต้นทุนที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารเป็นเงินเพียง 32,200,000.- บาท ไม่ใช่ 66,063,050.- บาท ศาลเห็นว่า ตามหนังสือสัญญาเช่าระบุว่าต้นทุนการก่อสร้างเป็นเงินจำนวน 66,063,050.- บาท โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างว่า ต้นทุนที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารเป็นเงินเพียง 37,200,000.- บาท ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ทั้งสาม เมื่อการยื่นบัญชีระบุพยานของโจทก์ทั้งสามไม่ชอบถือว่าโจทก์ทั้งสามมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบต้องฟังว่าต้นทุน การก่อสร้างเป็นเงินจำนวน 66,063,050.- บาท การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

ปรับปรุงล่าสุด: 14-02-2021