เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่7126/2558 
บริษัท ซิติ้ คอนซูเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัดโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง การคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ภาษีธุรกิจเฉพาะ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 6 ทวิ (4) มาตรา 91/2 (5)
กรณีที่จะถือว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุสมควร ตามบทบัญญัติในมาตรา 65 ทวิ (4) แห่ง ประมวลรัษฎากร หรือไม่ อย่างน้อยที่สุดโจทก์ต้องคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ในระดับอัตราที่ไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์กู้มาจากผู้ให้กู้ การที่โจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการทางด้านการเงินโดยประกอบกิจการธุรกิจบัตรเครดิต โดยยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ประมวลรัษฎากร ประเภทกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ และโจทก์กู้ยืมเงินมาจากผู้ให้กู้ในต่างประเทศแล้วนำเงินกู้ยืมมาให้บริษัทในเครือและธนาคารในเครือของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลในประเทศไทยกู้ยืมโดยใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวผันแปรตามราคาตลาด ตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์ เมื่อพิจารณารายงานเศรษฐกิจและการเงินธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2541 และปี 2542 ที่โจทก์อ้างปรากฏว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเวลาปี 2541 และปี 2542 ระหว่างไตรมาสที่ 1 ถึงไตรมาสที่ 4 ปรากฏอัตราดอกเบี้ย 4 ประเภท ประเภทแรก อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (ธนาคารขนาดใหญ่ 5 แห่ง) ประเภทที่สอง อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม (ธนาคารขนาดใหญ่ 5 แห่ง) ประเภทที่สาม อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร และประเภทที่สี่ อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตร (1 วัน) แต่เนื่องจากโจทก์ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ โจทก์จึงไม่อาจอ้างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารมาเป็นราคาตลาดสำหรับการให้กู้ยืมแก่บริษัทในเครือของโจทก์ได้ เมื่อโจทก์กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ในต่างประเทศมาให้บริษัทในเครือกู้ยืมอีกต่อหนึ่ง ไม่ใช่กรณีที่โจทก์นำเงินฝากของตนเองมาให้บุคคลอื่นกู้ยืม อัตราดอกเบี้ยที่จะนำมาถือเป็นราคาตลาดสำหรับการให้กู้ยืมของโจทก์ ควรเป็นอัตราดอกเบี้ยประเภทที่สอง คืออัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารขนาดใหญ่ 5 แห่ง โดยอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมดังกล่าวมีอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้กู้ในต่างประเทศ แม้โจทก์จะอ้างว่าจากสภาวะเศรษฐกิจในระยะเวลาหลังจากที่โจทก์กู้ยืมเงินมาจากต่างประเทศในช่วงปี 2541 ถึงปี 2542 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในประเทศลดลงทำให้โจทก์เกิดผลขาดทุนจากอัตราดอกเบี้ยนั้น ตามพฤติการณ์ของโจทก์ที่กู้ยืมเงินมาจากต่างประเทศแล้วนำมาให้กู้ยืมภายในประเทศโดยมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 5.7125 ถึง 6.1125 แต่ดอกเบี้ยในราคาตลาดในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในอัตราร้อยละ 14.50 ถึง 15.0 และลดลงจนมีอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดอยู่ที่ร้อยละ 8.25 ซึ่งยังคงเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายให้ผู้กู้ในต่างประเทศ ข้อกล่าวอ้างถึงผลขาดทุนจากอัตราดอกเบี้ยจึงไม่อาจรับฟังได้ กรณีของโจทก์จึงเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยมีดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร

ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าปรับชำระเงินล่าช้า (Late Charge /Delinquency Charge) ในกรณีที่ลูกค้าไม่ชำระเงินหรือชำระเงินไม่ครบตามใบแจ้งยอดบัญชีที่โจทก์จัดส่งไปให้ ต้องเสียค่าปรับการชำระเงินล่าช้าร้อยละ 4 ต่อเดือน ของยอดค้างชำระทั้งหมด เว้นแต่ลูกค้าที่มีวงเงิน Club Payment จะเสีย Late Charge เฉพาะส่วนที่ค้างชำระเกินวงเงิน Club Payment ส่วนค่าปรับคืนเช็ค (Service fee return cheque) ในกรณีที่ลูกค้าชำระเงินด้วยเช็ค หากเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ ต้องเสียค่าปรับเช็คคืนฉบับละ 500 บาท และค่าปรับหักบัญชีธนาคารไม่ได้ (Return direct debit fee) ลูกค้าที่ชำระเงินโดยการหักบัญชีธนาคาร หากไม่สามารถหักบัญชีได้จะต้องเสียค่าปรับครั้งละ 100 บาท นั้น ไม่ใช่ค่าบริการจากการให้บริการใช้บัตรเครดิตหรือในลักษณะทำนองเดียวกันโดยตรง ตาม พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการเฉพาะอย่างที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะให้เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 246) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (2) เนื่องจากเป็นค่าตอบแทนที่เกิดจากการที่ลูกค้าของโจทก์ไม่ชำระเงินหรือชำระเงินไม่ครบถ้วนตามใบแจ้งยอดบัญชี ซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่เกิดขึ้นภายหลังจากการให้บริการการใช้บัตรเครดิตที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์สิ้นสุดลงแล้ว รายรับส่วนนี้ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

      แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

       

      ปรับปรุงล่าสุด: 15-02-2021