คำพิพากษาฎีกาที่2103/2560 | |
นายรักเกียรติ วัฒนพงษ์ | โจทก์ |
กรมสรรพากร กับพวก | จำเลย |
เรื่อง การบังคับใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550มาตรา 30 | |
ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550ข้อ 55 | |
ประมวลรัษฎากรมาตรา 57 ตรีมาตรา 57 เบญจ | |
ขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2552 ถึงปีภาษี 2554 ได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 48/2545 วินิจฉัยว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 29 มาตรา 30 และมาตรา 80 ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ จึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การพิจารณาว่า กรณีจะต้องมีการคืนเงินภาษีตามที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2552 ถึงปีภาษี 2554 หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 วินิจฉัยว่า มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แห่ง ประมวลรัษฎากร ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 30 แต่เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 เป็นกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้อง และตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 55 วรรคสี่ ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคำร้องที่ไม่มีผู้ถูกร้อง ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยของศาลแก่ผู้ร้องและให้ถือว่าวันที่ศาลลงมติซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่านเท่านั้น ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวคงทำให้ ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่เวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคือวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 จึงไม่มีผลทำให้ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ไม่มีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรในปีภาษี 2552 ถึงปีภาษี 2554 | |
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา |