เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม   (ฉบับที่ 404)

พ.ศ. 2545

-----------------------

ภูมิพลอดุลยเดช  ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2545

เป็นปีที่ 57 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

                        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

                        โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการให้บริการบางกรณี

 

                        อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 81(1)(น) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

 

                        มาตรา   1    พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 404) พ.ศ. 2545”

 

                        มาตรา   2    พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

                        มาตรา   3    ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (11) และ (12) ของมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 401) พ.ศ. 2545 

 

                        “(11)  การให้บริการรับประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยของบรรษัทประกันต่อแห่งเอเชีย เฉพาะการให้บริการซึ่งกระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542

เป็นต้นไป          

 

                         (12)  การให้บริการรับประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร เฉพาะการให้บริการแก่บรรษัทประกันต่อแห่งเอเชียที่กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร”

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

         นายกรัฐมนตรี                                     

 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :-    เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 33) พ.ศ. 2541 กำหนดให้กิจการประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป ทำให้การให้บริการประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยในราชอาณาจักรของบรรษัทประกันต่อแห่งเอเชีย ซึ่งเดิมได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของบรรษัทประกันต่อแห่งเอเชีย พ.ศ. 2534 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เนื่องจากมาตรา 14 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 บัญญัติให้กฎหมายใดที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 ซึ่งได้บัญญัติให้บุคคลใดหรือกิจการใดได้รับการยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรโดยมิได้ระบุถึงภาษีอากรประเภทใดประเภทหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ให้มีความหมายเป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เพื่อให้การประกอบกิจการประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยของบรรษัทประกันต่อแห่งเอเชียเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดตั้งบรรษัทประกันต่อแห่งเอเชีย สมควรยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่การให้บริการรับประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยของบรรษัทประกันต่อแห่งเอเชีย และการให้บริการรับประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร เฉพาะการให้บริการแก่บรรษัทประกันต่อแห่งเอเชียและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 119 ตอนที่ 68 ก วันที่ 22 กรกฎาคม 2545)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022