เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. ๖๔๓/๒๕๕๖

เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์

--------------------------------------

ด้วยกรมสรรพากรเห็นควรปรับปรุงคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. ๓๗๘/๒๕๔๓ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ อธิบดีกรมสรรพากรจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

                                  ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในวรรคแรกของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. ๓๗๘/๒๕๔๓ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                                           "เพื่อให้การจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๘๙) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงาน การเก็บใบกำกับภาษีและเอกสารหลักฐานอื่น ที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อตามมาตรา ๘๗ และมาตรา ๘๗/๓ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมสรรพากรจึงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ดังต่อไปนี้”

                                  ข้อ ๒ ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้ เป็นวรรคสองของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. ๓๗๘/๒๕๔๓ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
                                           “คำจำกัดความในคำสั่งนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
                                                      “จำหน่าย” ให้หมายความรวมถึง การนำซอฟต์แวร์ที่ใช้ในกิจการของตนไปให้บุคคล นิติบุคคล หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันใช้ ไม่ว่าจะมีผลประโยชน์ หรือมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
                                                      “ซอฟต์แวร์” หมายถึง ชุดคำสั่งระบบงานที่ใช้สำหรับการลงรายการในรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ รายงานสินค้าและวัตถุดิบ ตามมาตรา ๘๗ แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากร ชนิด ก. ชนิด ข. ชนิด ค. หรือชนิด ง. ที่ได้กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๘๙)ฯ ลงวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒
                                                      "ซอฟต์แวร์เฮ้าส์" หมายถึง ผู้ประกอบการที่จำหน่ายซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากร ชนิด ก. ชนิด ข. ชนิด ค. หรือชนิด ง. ที่ได้กำหนดไว้ใน ข้อ ๑๐ ของ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๘๙)ฯ ลงวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้แก่ผู้ใช้โดยทั่วไป และเข้าลักษณะ ดังนี้
                                                             (๑) เป็นผู้เขียนหรือพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย หรือ
                                                             (๒) เป็นผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ที่เขียนหรือพัฒนาในประเทศไทย หรือที่เขียนหรือพัฒนาจากต่างประเทศ หรือ
                                                             (๓) เป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ที่เขียนหรือพัฒนาในประเทศไทย หรือที่เขียนหรือพัฒนาจากต่างประเทศ หรือ
                                                             (๔) เป็นผู้เขียนซอฟต์แวร์ หรือพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือนำเข้าซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ เพื่อใช้ในกิจการของตนเองและได้นำซอฟต์แวร์ดังกล่าวไปให้บุคคล นิติบุคคล หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันใช้ ไม่ว่าจะมีผลประโยชน์ หรือมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
                                                      “ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์” หมายถึง ผู้ประกอบการที่ได้รับเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์จากกรมสรรพากร
                                                      “เลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์” หมายถึง เลขประจำตัวที่กรมสรรพากรกำหนดให้ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์แต่ละราย เพื่อนำไปแสดงไว้ที่หน้าจอแรกของซอฟต์แวร์ ตามข้อ ๑๑ ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๘๙)ฯ ลงวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒
                                                      “ซอฟต์แวร์เลขที่” หมายถึง หมายเลขลำดับของซอฟต์แวร์ที่ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ได้กำหนดขึ้น”

                                 ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๑ ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. ๓๗๘/๒๕๔๓ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                                          “ข้อ ๑ การขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์
                                                   ผู้มีหน้าที่ยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ได้แก่ ผู้ประกอบการที่จำหน่ายซอฟต์แวร์ให้แก่ผู้ใช้โดยทั่วไปและเข้าลักษณะ ดังนี้
                                                   ๑.๑ เป็นผู้เขียนหรือพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย หรือ
                                                   ๑.๒ เป็นผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ที่เขียนหรือพัฒนาในประเทศไทย หรือที่เขียนหรือพัฒนาจากต่างประเทศ หรือ
                                                   ๑.๓ เป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ที่เขียนหรือพัฒนาในประเทศไทย หรือที่เขียนหรือพัฒนาจากต่างประเทศ หรือ
                                                   ๑.๔ เป็นผู้เขียนซอฟต์แวร์หรือพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือนำเข้าซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ เพื่อใช้ในกิจการของตนเองและได้นำซอฟต์แวร์ดังกล่าวไปให้บุคคล นิติบุคคล หรือบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันใช้ ไม่ว่าจะมีผลประโยชน์ หรือมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม”

                                  ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในข้อ ๒ ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. ๓๗๘/๒๕๔๓ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                                          “ข้อ ๒ การยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์
                                                   ให้ยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ตามแบบที่กำหนดแนบท้ายคำสั่งนี้ พร้อมเอกสารหลักฐาน ดังนี้
                                                   ๒.๑ ผังการทำงานรวมของระบบ (System Flowchart) ที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของทุกระบบงานในซอฟต์แวร์ เช่น ระบบบัญชีลูกหนี้ ระบบบัญชีเจ้าหนี้ ระบบสินค้าคงคลัง ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย ระบบบัญชีแยกประเภท ระบบรายงานภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
                                                   ๒.๒ คู่มือการใช้ซอฟต์แวร์แต่ละชนิด หรือคำอธิบายรายละเอียดของซอฟต์แวร์ คุณสมบัติของซอฟต์แวร์ วิธีการใช้งาน และขั้นตอนการทำงานของซอฟต์แวร์โดยละเอียด
                                                   ๒.๓ สำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอ
                                                   ๒.๔ สำเนาภาพถ่ายหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลฉบับปัจจุบัน (ที่มีอายุไม่เกิน ๖ เดือน) พร้อมแนบหลักฐานของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เช่น สำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาภาพถ่ายหนังสือเดินทาง (กรณีเป็นชาวต่างประเทศ) ของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม แล้วแต่กรณี
                                                   ๒.๕ หนังสือมอบอำนาจ พร้อมแนบสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ”

                                  ข้อ ๕ ให้ยกเลิกความในข้อ ๓ ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. ๓๗๘/๒๕๔๓ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                                          “ข้อ ๓ สถานที่ยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์
                                                   ๓.๑ ผู้ยื่นคำขอที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
                                                   ๓.๒ ผู้ยื่นคำขอนอกจาก ๓.๑ ให้ยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการของผู้ยื่นคำขอตั้งอยู่ และกรณีที่ผู้ยื่นคำขอมีสถานประกอบการหลายแห่งให้ยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สำนักงานใหญ่ของผู้ยื่นคำขอตั้งอยู่”

                                  ข้อ ๖ ให้ยกเลิกความในข้อ ๔ ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. ๓๗๘/๒๕๔๓ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                                          “ข้อ ๔ ข้อปฏิบัติสำหรับผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์
                                                   ให้ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ปฏิบัติ ดังนี้
                                                   ๔.๑ จัดทำข้อความบนหน้าจอแรกของซอฟต์แวร์ให้กับลูกค้าที่ซื้อซอฟต์แวร์ หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันที่ใช้ซอฟต์แวร์ โดยแสดงเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ หมายเลขลำดับของซอฟต์แวร์ และมีข้อความอย่างน้อยตามที่กำหนดในข้อ ๑๑ ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๘๙)ฯ ลงวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ปรากฏเมื่อเข้าใช้งาน ดังนี้
                                                          “ซอฟต์แวร์นี้เขียนขึ้นโดย…………….............…..............................(ระบุชื่อผู้ประกอบการ) ซึ่งมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์เลขที่.................. (ระบุเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ที่กรมสรรพากรกำหนด) เป็นซอฟต์แวร์เลขที่................(ระบุหมายเลขลำดับของซอฟต์แวร์ที่ผู้ประกอบการกำหนด) และเป็นซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากร ชนิด...............(ระบุชนิด ก. หรือชนิด ข. หรือชนิด ค. หรือชนิด ง.)”
                                                   ๔.๒ กำหนดหมายเลขลำดับของซอฟต์แวร์แต่ละชนิด หรือแต่ละรุ่น (Version) ให้ใช้ตัวเลขอย่างน้อยจำนวน ๔ หลัก เริ่มจากหมายเลข ๐๐๐๑ เรียงลำดับต่อเนื่องกันไป และให้ใช้รหัสอักษรภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษนำหน้าหมายเลขลำดับที่กำหนดขึ้นเพื่อแสดงชนิดของซอฟต์แวร์ หากซอฟต์แวร์ต่างชนิดกัน หรือต่างรุ่นกัน หรือต่างระบบงานกัน จะเริ่มต้นให้เลขลำดับที่ใหม่ก็ได้
                                                          ตัวอย่างของข้อความและการกำหนดหมายเลขลำดับของซอฟต์แวร์ ตาม ๔.๑ และ ๔.๒ ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำสั่งนี้
                                                   ๔.๓ จัดทำแบบแจ้งข้อมูลการจำหน่ายซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากรตามแบบที่กำหนดแนบท้ายคำสั่งนี้ เป็นรายไตรมาสและนำส่งสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร ภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดจากวันสิ้นไตรมาส โดยไตรมาสแรกของแต่ละปีเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนมีนาคม
                                                   ๔.๔ กรณีผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ได้พัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของซอฟต์แวร์ให้เป็นรุ่นใหม่ (New Version) หรือเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการทำงาน ทำให้ซอฟต์แวร์ดังกล่าว มีคุณสมบัติแตกต่างจากที่เคยแจ้งไว้ หรือการแยกจำหน่ายระบบงานหนึ่งระบบงานใด (Module) โดยที่ซอฟต์แวร์ยังคงมีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากร แต่ทำให้ชนิดของซอฟต์แวร์เปลี่ยนไปจากที่เคยแจ้ง หรือกรณีผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์จะจำหน่ายซอฟต์แวร์ที่เป็นซอฟต์แวร์ใหม่ ให้ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์แจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นหนังสือ พร้อมทั้งแนบเอกสารหลักฐาน ตามข้อ ๒ ต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี ภายใน ๑๕ วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลง
                                                   ๔.๕ การเปลี่ยนแปลงชื่อ หรือที่อยู่ หรือการเลิกจำหน่ายซอฟต์แวร์ หรือการเลิกประกอบกิจการของผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ หรือการเปลี่ยนแปลงใดในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์นั้น แจ้งการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกสถานะของการประกอบการดังกล่าวเป็นหนังสือต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี ภายใน ๑๕ วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
                                                   ๔.๖ ในกรณีที่ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ ได้จำหน่ายซอฟต์แวร์ให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ ให้แจ้งผู้ประกอบการรายดังกล่าวทราบด้วยว่า ให้ยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตามข้อ ๑ ก่อนที่จะนำไปจำหน่ายต่อด้วย
                                                   ๔.๗ ในกรณีที่พบว่าซอฟต์แวร์ของผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์รายใด ไม่เป็นไปตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากรตามที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๘๙)ฯ ลงวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์แก้ไขปรับปรุงให้ซอฟต์แวร์ที่จำหน่ายมีคุณสมบัติตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากรต่อไป”

                                  ข้อ ๗ ให้ยกเลิกความในข้อ ๕ ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. ๓๗๘/๒๕๔๓ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓

                                  ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ลงนามในคำสั่งนี้เป็นต้นไป

                                                สั่ง ณ วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

 

สุทธิชัย สังขมณี
(นายสุทธิชัย สังขมณี)
อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 24-12-2021