เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ท. 378 /2543

เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์

--------------------------------

"เพื่อให้การจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงาน การเก็บใบกำกับภาษีและเอกสารหลักฐานอื่นที่ใช้ ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมสรรพากรจึงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ดังต่อไปนี้
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. 643/2556 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2556)
                 "คำจำกัดความในคำสั่งนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
                            "จำหน่าย" ให้หมายความรวมถึง การนำซอฟต์แวร์ที่ใช้ในกิจการของตนไปให้บุคคล นิติบุคคล หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือ เดียวกันใช้ ไม่ว่าจะมีผลประโยชน์ หรือ มีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
                           "ซอฟต์แวร์" หมายถึง ชุดคำสั่งระบบงานที่ใช้สำหรับการลงรายการในรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ รายงานสินค้าและวัตถุดิบ ตามมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานซอฟต์แวร์ของกรมสรรพากร ชนิด ก. ชนิด ข. ชนิด ค. หรือ ชนิด ง. ที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 10 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89)ฯ ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542
                           "ซอฟต์แวรเฮ้าส์" หมายถึง ผู้ประกอบการที่จำหน่ายซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์ เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากร ชนิด ก. ชนิด ข. ชนิด ค. หรือ ชนิด ง. ที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 10 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89)ฯ ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542 ให้แก่ผู้ใช้โดย ทั่วไป และเข้าลักษณะ ดังนี้
                     1 เป็นผู้เขียนหรือพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย หรือ
                     2 เป็นผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ที่เขียนหรือพัฒนาในประเทศไทย หรือที่เขียน หรือพัฒนาจากต่างประเทศ หรือ
                     3 เป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ที่เขียนหรือพัฒนาในประเทศไทย หรือที่เขียน หรือพัฒนาจากต่างประเทศ หรือ
                     4 เป็นผู้นำเข้าซอฟต์แวร์ หรือพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือนำเข้าซอฟต์แวร์จากจากต่างประเทศ เพื่อใช้ในกิจการของตนเองและได้นำซอฟต์แวร์ดังกล่าวไปให้บุคคล นิติบุคคล หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันใช้ ไม่ว่าจะมีผลประโยชน์ หรือ ค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
                          "ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์" หมายถึง ผู้ประกอบการที่ได้รับเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์จากกรมสรรพากร
                          "เลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์" หมายถึง เลขประจำตัวที่กรมสรรพากรกำหนดให้ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์แต่ละราย เพื่อนำไปแสดงไว้ที่หน้าจอแรกของซอฟต์แวร์ ตามข้อ 11 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 98) ฯ ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542
                          "ซอฟต์แวร์เลขที่" หมายถึง หมายเลขลำดับของซอฟต์แวร์ที่ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ได้กำหนดขึ้น"
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. 643/2556 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556)
                 "ข้อ 1 การยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์
                           ผู้มีหน้าที่ยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ได้แก่ ผู้ประกอบการที่จำหน่ายซอฟต์แวร์ให้แก่ผู้ใช้โดยทั่วไปและเข้าลักษณะ ดังนี้
                           1.1 เป็นผู้เขียนหรือพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย หรือ
                           1.2 เป็นผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ที่เขียนหรือพัฒนาในประเทศไทย หรือที่เขียนหรือพัฒนาจากต่างประเทศ หรือ
                           1.3 เป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ที่เขียนหรือพัฒนาในประเทศไทย หรือที่เขียนหรือพัฒนาจากต่างประเทศ หรือ
                           1.4 เป็นผู้เขียนซอฟต์แวร์ หรือพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือนำเข้าซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ เพื่อใช้ในกิจการของตนเอง และได้นำซอฟต์แวร์ ดังกล่าวไปให้บุคคล นิติบุคคล หรือบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันใช้ ไม่ว่าจะมีผลประโยชน์ หรือมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม"
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. 643/2556 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕6)
                 “ข้อ 2 การยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์
                           ให้ยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ตามแบบที่กำหนดแนบท้ายคำสั่งนี้ พร้อมเอกสารหลักฐาน ดังนี้
                           2.1 ผังการทำงานรวมของระบบ (System Flowchart) ที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของทุกระบบงานในซอฟต์แวร์ เช่น ระบบบัญชีลูกหนี้ ระบบบัญชีเจ้าหนี้ ระบบสินค้าคงคลัง ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย ระบบบัญชีแยกประเภท ระบบรายงานภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
                           2.2 คู่มือการใช้ซอฟต์แวร์แต่ละชนิด หรือคำอธิบายรายละเอียดของซอฟต์แวร์ คุณสมบัติของซอฟต์แวร์ วิธีการใช้งาน และขั้นตอนการทำงานของซอฟต์แวร์โดยละเอียด
                           2.3 สำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอ
                           2.4 สำเนาภาพถ่ายหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลฉบับปัจจุบัน (ที่มีอายุไม่เกิน 6 เดือน) พร้อมแนบหลักฐานของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เช่น สำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาภาพถ่ายหนังสือเดินทาง (กรณีเป็นชาวต่างประเทศ) ของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม แล้วแต่กรณี
                           2.5 หนังสือมอบอำนาจ พร้อมแนบสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของ ผู้มอบอำนาจ และสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. 643/2556 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕6)
                 “ข้อ 3 สถานที่ยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์
                           3.1 ผู้ยื่นคำขอที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
                           3.2 ผู้ยื่นคำขอนอกจาก 3.1 ให้ยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการของผู้ยื่นคำขอตั้งอยู่ และกรณีที่ผู้ยื่นคำขอ มีสถานประกอบการหลายแห่งให้ยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ที่สำนักงานใหญ่ของผู้ยื่นคำขอตั้งอยู่”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. 643/2556 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕6)
                 “ข้อ 4 ข้อปฏิบัติสำหรับผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์
                           ให้ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ปฏิบัติ ดังนี้
                           4.1 จัดทำข้อความบนหน้าจอแรกของซอฟต์แวร์ให้กับลูกค้าที่ซื้อซอฟต์แวร์ หรือบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน ที่ใช้ซอฟต์แวร์ โดยแสดงเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ หมายเลขลำดับของซอฟต์แวร์ และมีข้อความอย่างน้อยตามที่กำหนดในข้อ 11 ของประกาศ อธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89)ฯ ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542 ให้ปรากฏ เมื่อเข้าใช้งาน ดังนี้
                           “ซอฟต์แวร์นี้เขียนขึ้นโดย…………….............…..............................(ระบุชื่อผู้ประกอบการ) ซึ่งมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์เลขที่........................ (ระบุเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ที่กรมสรรพากรกำหนด) เป็นซอฟต์แวร์เลขที่................(ระบุหมายเลขลำดับของซอฟต์แวร์ที่ผู้ประกอบการกำหนด) และเป็นซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากร ชนิด............... (ระบุชนิด ก. หรือชนิด ข. หรือชนิด ค. หรือชนิด ง.)”
                           4.2 กำหนดหมายเลขลำดับของซอฟต์แวร์แต่ละชนิด หรือแต่ละรุ่น (Version) ให้ใช้ตัวเลขอย่างน้อยจำนวน 4 หลัก เริ่มจากหมายเลข 0001 เรียงลำดับต่อเนื่องกันไป และให้ใช้รหัสอักษรภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษนำหน้าหมายเลขลำดับที่กำหนดขึ้นเพื่อแสดงชนิดของซอฟต์แวร์ หากซอฟต์แวร์ต่างชนิดกัน หรือต่างรุ่นกัน หรือต่างระบบงานกัน จะเริ่มต้นให้เลขลำดับที่ใหม่ก็ได้
                                  ตัวอย่างของข้อความและการกำหนดหมายเลขลำดับของซอฟต์แวร์ ตาม 4.1 และ 4.2 ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำสั่งนี้
                           4.3 จัดทำแบบแจ้งข้อมูลการจำหน่ายซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อ ภาษีสรรพากรของกรมสรรพากรตามแบบที่กำหนดแนบท้ายคำสั่งนี้ เป็นรายไตรมาสและนำส่งสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากวันสิ้นไตรมาส โดยไตรมาสแรกของแต่ละปีเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนมีนาคม
                           4.4 กรณีผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ได้พัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของซอฟต์แวร์ให้เป็นรุ่นใหม่ (New Version) หรือเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการทำงาน ทำให้ซอฟต์แวร์ดังกล่าว มีคุณสมบัติแตกต่างจากที่เคยแจ้งไว้ หรือการแยกจำหน่ายระบบงานหนึ่งระบบงานใด (Module) โดยที่ซอฟต์แวร์ยังคงมีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากร แต่ทำให้ ชนิดของซอฟต์แวร์เปลี่ยนไปจากที่เคยแจ้ง หรือกรณีผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์จะจำหน่ายซอฟต์แวร์ที่เป็น ซอฟต์แวร์ใหม่ ให้ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์แจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นหนังสือ พร้อมทั้งแนบเอกสารหลักฐาน ตามข้อ 2 ต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี ภายใน 15 วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลง
                           4.5 การเปลี่ยนแปลงชื่อ หรือที่อยู่ หรือการเลิกจำหน่ายซอฟต์แวร์ หรือการเลิกประกอบกิจการของผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ หรือการเปลี่ยนแปลงใดในลักษณะทำนองเดียวกันให้ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์นั้น แจ้งการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกสถานะของการประกอบการดังกล่าวเป็นหนังสือต่อ อธิบดีกรมสรรพากรผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี ภายใน 15 วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
                           4.6 ในกรณีที่ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ ได้จำหน่ายซอฟต์แวร์ให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ ให้แจ้งผู้ประกอบการรายดังกล่าวทราบด้วยว่า ให้ยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตามข้อ 1 ก่อนที่จะนำไปจำหน่ายต่อด้วย
                           4.7 ในกรณีที่พบว่าซอฟต์แวร์ของผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์รายใด ไม่เป็นไปตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากรตามที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89)ฯ ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542 ให้ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์แก้ไขปรับปรุงให้ซอฟต์แวร์ที่จำหน่ายมีคุณสมบัติตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากรต่อไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. 643/2556 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556)
                 “ข้อ 5 ข้อความสำหรับการขึ้นหน้าจอ ให้ผู้ประกอบการตาม 1.1- 1.4 นำเลขประจำตัวของซอฟต์แวร์เฮ้าส์ที่ได้รับอนุมัติไปขึ้นหน้าจอแรก โดยมีข้อความตามที่กำหนดในข้อ 11 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89)ฯ ดังนี้ ให้ผู้ประกอบการตาม 1.1- 1.4 นำเลขประจำตัว ของซอฟต์แวร์เฮ้าส์ที่ได้รับอนุมัติไปขึ้นหน้าจอแรก โดยมีข้อความตามที่กำหนดในข้อ 11 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89)ฯ ดังนี้
                     " ซอฟต์แวร์นี้เขียนขึ้นโดย……………….…………………………………………………………….….ซึ่งมีเลข ประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์เลขที่ (เลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ที่กรมสรรพากรกำหนด) เป็นซอฟต์แวร์เลขที่ (หมายเลขลำดับของซอฟต์แวร์ที่ผู้ประกอบการกำหนด) และเป็นซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากรชนิด (ชนิด ก. หรือชนิด ข. หรือชนิด ค. หรือชนิด ง.)"
                            5.1 ตัวอย่างการขึ้นหน้าจอตามข้อ 1.1 กรณีเป็นผู้เขียนหรือพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อจำหน่าย
                                  " ซอฟต์แวร์นี้เขียนขึ้นหรือพัฒนาโดยบริษัท โซลูชั่น จำกัด ซึ่งมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์เลขที่ 2000 เป็นซอฟต์แวร์เลขที่ ก-0001 และเป็นซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากร ชนิด ก."
                           5.2 ตัวอย่างการขึ้นหน้าจอตามข้อ 1.2
                                 (1) กรณีเป็นผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ที่เขียนหรือพัฒนาในประเทศไทย
                                       " ซอฟต์แวร์นี้เขียนขึ้นหรือพัฒนาโดยบริษัท กขค จำกัด บริษัท ไทย-สยาม จำกัด เป็นผู้จำหน่าย ซึ่งมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ เลขที่ 0188 เป็นซอฟต์แวร์เลขที่ 0052 และเป็นซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากร ชนิด ข."
                                 (2) กรณีเป็นผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ที่เขียนหรือพัฒนาจากต่างประเทศ
                                       " ซอฟต์แวร์นี้เขียนขึ้นหรือพัฒนาโดยบริษัท XYZ จำกัด ในประเทศ ออสเตรเลีย บริษัท กรุงไทย จำกัด เป็นผู้จำหน่ายซึ่งมีเลขประจำตัว ซอฟต์แวร์เฮ้าส์เลขที่ 0150 เป็นซอฟต์แวร์เลขที่ 0019 และเป็นซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากร ชนิด ข."
                           5.3 ตัวอย่างการขึ้นหน้าจอตามข้อ 1.3
                                 (1) กรณีเป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ที่เขียนหรือพัฒนาในประเทศไทย
                                       " ซอฟต์แวร์นี้เขียนขึ้นหรือพัฒนาโดย บริษัท โชคชัย จำกัด โดยมีบริษัท นิวโซลูชั่น จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งมีเลขประจำตัว ซอฟต์แวร์เฮ้าส์เลขที่ 2543 เป็นซอฟต์แวร์เลขที่ AR-0007 และเป็นซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากรชนิด ค."
                                 (2) กรณีเป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ที่เขียนหรือพัฒนาจากต่างประเทศ
                                       " ซอฟต์แวร์นี้เขียนขึ้นหรือพัฒนาโดยบริษัท ABC จำกัด ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีบริษัท ไทยโซลูชั่น จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์เลขที่ 0199 เป็นซอฟต์แวร์เลขที่ 0005 และเป็นซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากรชนิด ค."
                           5.4 ตัวอย่างการขึ้นหน้าจอตามข้อ 1.4
                                 (1) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นผู้เขียน หรือพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในกิจการของตนเอง และให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในเครือเดียวกันใช้ด้วย
                                       " ซอฟต์แวร์นี้เขียนขึ้นหรือพัฒนาโดย บริษัท ซีซีไทย จำกัด ซึ่งมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์เลขที่ 2544 เป็นซอฟต์แวร์เลขที่ 0004 และเป็นซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากรชนิด ง. "
                                 (2) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนนำเข้าซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ เพื่อใช้ในกิจการของตนเองและนำไปให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันใช้ด้วย
                                       " ซอฟต์แวร์นี้เขียนขึ้นโดยบริษัท XYZ จำกัด ในประเทศญี่ปุ่น โดยมีบริษัท เอกบิสิเนส จำกัด เป็นผู้นำเข้า ซึ่งมีเลขประจำตัว ซอฟต์แวร์เฮ้าส์เลขที่ 0555 เป็นซอฟต์แวร์เลขที่ 0001 และเป็นซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานซอฟต์แวร์ เพื่อภาษีสรรพากรของกรมสรรพากร ชนิด ง."
(ยกเลิกโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท. 643/2556 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่น คำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556)
                 “ข้อ 6 คำสั่งนี้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

                                  สั่ง ณ วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2543

 

เกรียงศักดิ์ วัฒนวรางกูร

(นายเกรียงศักดิ์ วัฒนวรางกูร)
รองอธิบดี รักษาราชการแทน
อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 24-12-2021