เมนูปิด

               ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศออสเตรเลีย
              เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร
                                ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้


ราชอาณาจักรไทยและประเทศออสเตรเลีย

 

                มีความปรารถนาที่จะทำความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

 

                ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

 

 

ข้อ 1

ขอบข่ายด้านบุคคล

 

                ความตกลงนี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ

 

 

ข้อ 2

ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

 

1.             ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ความตกลงนี้ใช้บังคับได้แก่

 

                (ก)           ในกรณีประเทศไทย

 

                                (1)            ภาษีเงินได้ และ

 

                                (2)            ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

 

                (ข)           ในกรณีประเทศออสเตรเลีย

 

                ภาษีเงินได้ และภาษีการเช่าทรัพยากรที่เกี่ยวกับโครงการสำรวจเพือใช้แหล่งแร่ธาตุปิโตรเลียมนอกฝั่งทะเลซึ่งประกาศใช้ภายใต้กฎหมายของรัฐบาลกลางแห่งสหพันธ์รัฐออสเตรเลีย

 

2.             ความตกลงนี้ให้ใช้บังคับแก่ภาษีใดๆ ที่มีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญซึ่งรัฐใดรัฐหนึ่งบังคับจัดเก็บเพิ่มเติมหรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบันหลังจากวันที่ได้มีการลงนามกันในความตกลงนี้ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะแจ้งแก่กันและกันเพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาใดๆ ซึ่งมีขึ้นในกฎหมายที่เกี่ยวกับภาษีซึ่งความตกลงฉบับนี้ใช้บังคับ

 

 

ข้อ 3

บทนิยามทั่วไป

 

1.             ในความตกลงนี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

                (ก)           คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึง ราชอาณาจักรไทย และรวมถึงพื้นที่ใดซึ่งประชิดกับน่านน้ำอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย ซึ่งตามกฎหมายไทยและตามกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดหรืออาจจะกำหนดในภายหลังให้เป็นพื้นที่ซึ่งราชอาณาจักรไทยมีสิทธิในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นดินท้องทะเล และใต้พื้นดินท้องทะเล และทรัพยากรธรรมชาติของพื้นดินท้องทะเล และใต้พื้นดินท้องทะเล

 

                (ข)           คำว่า "ประเทศออสเตรเลีย" เมื่อใช้ในความหมายทางภูมิศาสตร์

ให้รวมถึงอาณาเขตภายนอกทั้งหมดที่นอกเหนือไปจาก

 

                               (1)           อาณาเขตของเกาะนอร์ฟอล์ค

 

                               (2)           อาณาเขตของเกาะคริสต์มาส

 

                               (3)           อาณาเขตของหมู่เกาะโคโคส์ (คีลิง)

 

                               (4)           อาณาเขตของหมู่เกาะแอซมอร์และคาเทียร์

 

                               (5)           อาณาเขตของเกาะเฮอร์ด และหมู่เกาะแม็คโดแนลด์ และ

 

                               (6)           อาณาเขตของหมู่เกาะคอรอล ซี

 

                และให้รวมถึงพื้นที่ใดซึ่งประชิดกับเส้นกั้นอาณาเขตของประเทศออสเตรเลีย หรือของอาณาเขตตามที่กล่าวข้างต้น ในส่วนที่มีอยู่ในขณะนี้ตามกฎหมายของประเทศออสเตรเลียที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใดๆ ของพื้นดินท้องทะเลและใต้พื้นดินท้องทะเลของไหล่ทวีป

 

                (ค)           คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญา" "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึงประเทศไทย หรือประเทศออสเตรเลีย แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                (ง)           คำว่า "บุคคล" รวมถึง บุคคลธรรมดา กองมรดก บริษัท และคณะบุคคลอื่นใด ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยหนึ่งเพื่อความมุ่งประสงค์ในทางภาษี

 

                (จ)           คำว่า "บริษัท" หมายถึง นิติบุคคลหรือหน่วยใดๆ ซึ่งถือว่า เป็นนิติบุคคล หรือบริษัทตามกฎหมายภาษีอากรของรัฐผู้ทำสัญญาแต่ละรัฐ

 

                (ฉ)          คำว่า "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึง วิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย หรือ วิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                (ช)           คำว่า "ภาษี" หมายถึง ภาษีออสเตรเลียหรือภาษีไทย แล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                (ซ)           คำว่า "ภาษีออสเตรเลีย" หมายถึง ภาษีที่บังคับจัดเก็บโดยประเทศออสเตรเลีย เป็นภาษีที่ความตกลงนี้ใช้บังคับตามนัยของข้อ 2

 

                (ฌ)          คำว่า "ภาษีไทย" หมายถึง ภาษีที่บังคับจัดเก็บโดยประเทศไทย เป็นภาษีที่ความตกลงนี้ใช้บังคับตามนัยของข้อ 2

 

                (ญ)          คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" ในกรณีของประเทศออสเตรเลีย หมายถึง อธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ และในกรณีของประเทศไทย หมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจ

 

2.             ภาษีที่ใช้บังคับจัดเก็บตามนัยของข้อ 2 ในความตกลงนี้ คำว่า "ภาษีออสเตรเลีย" ไม่ให้รวมถึง ค่าปรับ หรือ ดอกเบี้ย ที่จัดเก็บตามกฎหมายของประเทศออสเตรเลีย และคำว่า "ภาษีไทย" ไม่ให้รวมถึงเงินเพิ่มใดๆ จากการเสียภาษีเกินกำหนดเวลา หรือเบี้ยปรับใดๆ ที่จัดเก็บโดยกฎหมายของประเทศไทย

 

3.             ในการใช้บังคับความตกลงนี้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งคำใดๆ ที่มิได้นิยามไว้ในความตกลงนี้ให้มีความหมายตามที่คำนั้นๆ มีอยู่ตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีของรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้นในระยะเวลาที่มีผลบังคับใช้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

4.             ภายใต้ความตกลงนี้ เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง และภายใต้กฎหมายที่ใช้บังคับในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง บุคคลมีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากเงินได้จำนวนดังกล่าวตามจำนวนเงินได้ที่ส่งออกไปหรือได้รับในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น โดยมิใช่ตามจำนวนเต็มภาษีที่ยอมยกเว้นให้ในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกภายใต้ความตกลงฉบับนี้ จะยอมให้ยกเว้นได้เพียงจำนวนเงินได้ที่ได้ส่งไปหรือได้รับในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น

 

 

ข้อ 4

ผู้มีถิ่นที่อยู่

 

1.             เพื่อความประสงค์ของความตกลงนี้ บุคคลเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                (ก)           ในกรณีประเทศออสเตรเลีย ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศออสเตรเลียเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านภาษีออสเตรเลีย และ

 

                (ข)           ในกรณีประเทศไทย  ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านภาษีไทย

 

2.             บุคคลจะไม่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งตามวัตถุประสงค์ของความตกลงนี้ ถ้าบุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้จากแหล่งเงินได้ในรัฐนั้น

 

3.             ในกรณีที่ตามเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 และ 2 บุคคลธรรมดาคนใดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ การกำหนดสถานภาพของบุคคลจะพิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์การพิจารณาตามลำดับที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้

 

                (ก)           ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่บุคคลผู้นั้นมีที่อยู่ถาวรเพียงรัฐเดียว

 

                (ข)           ถ้าบุคคลธรรมดานั้นมีที่อยู่ถาวรตั้งอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐหรือไม่มีที่อยู่ถาวรในรัฐใดรัฐหนึ่งเลย ให้ถือว่า บุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนมีที่อยู่อาศัยเป็นปกติวิสัยเพียงแห่งเดียว

 

                (ค)           ถ้าบุคคลธรรมดามีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ หรือไม่มีอยู่เลยในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสอง ให้ถือว่า บุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ตนมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัว และทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกว่าเพียงแห่งเดียว

 

4.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของวรรค 3 สัญชาติและเชื้อชาติของบุคคลธรรมดาของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง จะถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดระดับความสัมพันธ์ส่วนตัวและทางเศรษฐกิจกับรัฐผู้ทำสัญญานั้น

 

5.             ในกรณีที่ตามเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลอื่นๆ ซึ่งมิใช่บุคคลธรรมดา ที่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่ได้มีการจดทะเบียนก่อตั้ง หรือจัดองค์การ

 

 

ข้อ 5

สถานประกอบการถาวร

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งความตกลงนี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

 

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" โดยเฉพาะให้รวมถึง

 

                (ก)           สถานจัดการ

 

                (ข)           สาขา

 

                (ค)           สำนักงาน

 

                (ง)           โรงงาน

 

                (จ)           โรงช่าง

 

                (ฉ)           เหมืองแร่ บ่อน้ำมันหรือบ่อก๊าซ เหมืองหิน หรือสถานที่อื่นใดที่มีการขุดทรัพยากรธรรมชาติ

 

                (ช)           ที่ตั้งอาคาร โครงการก่อสร้าง โครงการติดตั้ง โครงการประกอบหรือกิจกรรมตรวจควบคุมเกี่ยวกับโครงการประกอบนั้น ในกรณีที่ตั้งโครงการหรือกิจกรรม หรือหน่วยดังกล่าวตั้งแต่ 2 หน่วยหรือมากกว่า ดำเนินการติดต่อกันหลายครั้งหรือได้ดำเนินการติดต่อกันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือน

 

                (ซ)           คลังสินค้าในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลซึ่งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บรักษาสินค้าสำหรับบุคคลอื่น

 

                (ฌ)          การให้การบริการรวมทั้งการบริการให้คำปรึกษาโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งผ่านลูกจ้างหรือบุคคลอื่นใด โดยที่กิจกรรมในลักษณะนั้นดำเนินติดต่อกัน (สำหรับโครงการเดียวกันหรือโครงการต่อเนื่อง) ภายในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เป็นระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมกันเกินกว่า 183 วัน ภายในระยะเวลา 12 เดือน

 

                (ญ)          ทรัพย์สินทางเกษตรกรรม ทุ่งหญ้า หรือป่าไม้

 

3.             วิสาหกิจ จะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรเพียงเหตุผลดังต่อไปนี้

 

                (ก)           การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา จัดแสดงหรือส่งมอบสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น

 

                (ข)           การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้า ซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา จัดแสดง หรือส่งมอบ

 

                (ค)           การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้า ซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ให้วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ

 

                (ง)           การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อสิ่งของหรือสินค้าหรือเพื่อรวบรวมข้อสนเทศสำหรับวิสาหกิจนั้น หรือ

 

                (จ)           การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการประกอบกิจกรรมซึ่งมีลักษณะเป็นการเตรียมการ หรือเป็นส่วนประกอบให้แก่วิสาหกิจ เช่น การโฆษณา หรือการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์

 

4.             วิสาหกิจให้ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง และดำเนินธุรกิจผ่านสถานประกอบการถาวรนั้น ถ้ามีการใช้เครื่องมือเครื่องใช้ในรัฐนั้นเป็นจำนวนมากพอสมควรสำหรับสัญญาหรือภายใต้สัญญากับวิสาหกิจนั้น

 

5.             บุคคลผู้กระทำการในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งเพื่อวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนอกเหนือจากนายหน้า ตัวแทนทางการค้าทั่วไป หรือตัวแทนอื่นๆ ที่มีสถานภาพอิสระ ตามบทบัญญัติของข้อ 6 ให้ถือว่าเป็นสถานประกอบการถาวรของวิสาหกิจนั้น ในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกถ้าบุคคลนั้น

 

                (ก)           มีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐนั้น ซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนามของวิสาหกิจนั้นเว้นไว้แต่ว่ากิจกรรมต่างๆ ของบุคคลนั้นจำกัดอยู่แต่เฉพาะเพียงการซื้อของหรือสินค้าเพื่อวิสาหกิจนั้น

 

                (ข)           กระทำการ ผลิต หรือแปรสภาพสิ่งของหรือสินค้าที่เป็นของวิสาหกิจนั้น เพื่อวิสาหกิจในรัฐนั้น

 

                (ค)           เก็บรักษาอย่างเป็นปกติวิสัย ซึ่งมูลภัณฑ์ของของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้นอยู่ในรัฐแรกนั้น ซึ่งบุคคลนั้นดำเนินการตามคำสั่งซื้อในนามของวิสาหกิจนั้นอยู่เป็นประจำ หรือ

 

                (ง)           จัดหาอย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรก ซึ่งคำสั่งซื้อทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเพื่อวิสาหกิจนั้น หรือเพื่อวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่น ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้น หรือ มีการควบคุมผลประโยชน์ในวิสาหกิจนั้น

 

6.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง จะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เพียงเพราะว่าได้ประกอบธุรกิจในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น โดยผ่านทางนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระถ้าบุคคลเช่นว่านั้นได้กระทำตามทางอันเป็นปกติแห่งธุรกิจของตนเพื่อความมุ่งประสงค์นี้ ตัวแทนจะไม่ถือว่าเป็นตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระ ถ้าตัวแทนเช่นว่านั้นได้ประกอบการในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเกี่ยวกับกิจกรรมที่กำหนดไว้ในวรรค 5 ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเพื่อวิสาหกิจนั้นหรือเพื่อวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่น หรือ วิสาหกิจอื่นๆ มากกว่านั้น ซึ่งอยู่ในความควบคุมหรือควบคุมผลประโยชน์โดยวิสาหกิจนั้น

 

7.             ข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ควบคุมหรืออยู่ในความควบคุมของบริษัทซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง หรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) จะไม่ทำให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

8.             หลักการที่ตั้งบังคับขึ้นในวรรค 1 ถึง 7 จะใช้ในการกำหนดวัตถุประสงค์ของวรรค 5 แห่งข้อ 11 และวรรค 6 แห่งข้อ 12 ไม่ว่าจะมีสถานประกอบการถาวรนอกรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองหรือไม่ และไม่ว่าวิสาหกิจซึ่งมิได้เป็นวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐใดรัฐหนึ่งนั้นมีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011