เมนูปิด

ข้อ 21

นักศึกษาและผู้รับการฝึกอบรม

 

                ในกรณีนักศึกษาหรือผู้รับการฝึกอบรมเป็นผู้ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐนั้นในเวลาก่อนหน้าที่จะไปเยือนรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง และเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่เป็นการชั่วคราว ในอีกรัฐหนึ่งนั้นเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการศึกษาหรือการฝึกอบรม ได้รับการจ่ายเงินจากแหล่งนอกอีกรัฐหนึ่งนั้นเพื่อการครองชีพ การศึกษาหรือการฝึกอบรมของนักศึกษาหรือผู้รับการฝึกอบรมนั้น เงินที่จ่ายดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีในอีกรัฐหนึ่งนั้น

 

 

ข้อ 22

เงินได้ซึ่งมิได้ระบุไว้ชัดแจ้ง

 

1.             บรรดารายการเงินได้ของผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งซึ่งมิได้ระบุไว้ชัดแจ้งในข้อก่อนๆ ของความตกลงนี้ จะเก็บภาษีได้เฉพาะในรัฐผู้ทำสัญญารัฐนั้นเท่านั้น

 

2.             อย่างไรก็ตาม ถ้าเงินได้ดังกล่าว ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งได้รับจากแหล่งเงินได้ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง เงินได้เช่นว่านั้นอาจเก็บภาษีได้ในรัฐผู้ทำสัญญาที่เงินได้นั้นเกิดขึ้น

 

3.             บทบัญญัติของวรรค 1 มิให้ใช้บังคับกับเงินได้ซึ่งผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งได้รับโดยเงินได้นั้นเกี่ยวข้องในประการสำคัญกับสถานประกอบการถาวรหรือฐานประกอบการประจำ ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น ในกรณีเช่นนั้น ให้ใช้บทบัญญัติของข้อ 7 หรือ 14 บังคับแล้วแต่กรณี

 

 

ข้อ 23

แหล่งเงินได้

 

                เงินได้ที่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งได้รับ ภายใต้ข้อหนึ่งข้อใดหรือหลายข้อของข้อ 6 ถึง 8 ข้อ 10 ถึง 17 และ 22 อาจเก็บภาษีได้ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นเงินได้จากแหล่งในอีกรัฐหนึ่งนั้น ทั้งนี้ เพื่อความมุ่งประสงค์ของข้อ 24 และกฎหมายภาษีเงินได้ของอีกรัฐหนึ่งนั้น

 

 

ข้อ 24

วิธีขจัดการเก็บภาษีซ้อน

 

1.             ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายออสเตรเลียซึ่งบังคับใช้เป็นระยะๆ เกี่ยวกับการยอมให้ถือภาษีที่ต้องชำระในดินแดนนอกออสเตรเลียเป็นเครดิตต่อภาษีออสเตรเลีย (ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อหลักเกณฑ์ทั่วไปที่จะกล่าวต่อไปนี้) ภาษีไทยที่ได้ชำระภายใต้กฎหมายของประเทศไทยและเป็นไปตามความตกลงนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยการลดหย่อนในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้ที่บุคคลผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในออสเตรเลียได้รับจากแหล่งประเทศไทย จะยอมให้ถือเป็นเครดิตต่อภาษีออสเตรเลียที่ต้องชำระในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้นั้น

 

2.             ในกรณีที่บริษัทผู้ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และมิได้เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในออสเตรเลียเพื่อความมุ่งประสงค์ทางด้านภาษีอากรของออสเตรเลีย จ่ายเงินปันผลให้กับบริษัทผู้ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในออสเตรเลียและซึ่งควบคุมโดยตรงหรือโดยทางอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของสิทธิออกเสียงของบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลนั้น เครดิตที่กล่าวถึงในวรรค 1 ให้รวมถึงภาษีไทยที่จ่ายโดยบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับสัดส่วนของกำไรซึ่งได้จ่ายเงินปันผลนั้น

 

3.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งวรรค 1 และ 2 ภาษีไทยที่ได้ชำระจะรวมถึงจำนวนที่เทียบเท่ากับจำนวนภาษีใดๆ ที่ได้กล่าวถึงมาก่อนหน้านี้ซึ่งภายใต้กฎหมายของไทย และตามความตกลงนี้ ควรต้องชำระภาษีเงินได้แต่ไม่ได้ชำระเพราะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีสำหรับเงินได้นั้นอันเป็นผลเนื่องจากการดำเนินการของ

 

                (ก)          มาตรา 31, 33, 34, 35 (2), (3), (4), หรือ 36 (4) ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ตราบเท่าที่บทบัญญัติเหล่านั้นยังใช้บังคับอยู่และมิได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตั้งแต่วันลงนามในความตกลงนี้ หรือได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพียงเล็กน้อย โดยมิได้มีผลกระทบต่อลักษณะทั่วไปของมาตรการดังกล่าว หรือ

 

                (ข)          บทบัญญัติอื่นๆ ซึ่งอาจประกาศใช้ภายหลังเพื่อยกเว้นหรือลดภาษีซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้เป็นตัวแทนของรัฐบาลแห่งประเทศออสเตรเลียและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยได้ตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรยอมรับว่า มีลักษณะคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญโดยที่บทบัญญัติเช่นว่านั้นมิได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลังจากนั้น หรือได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพียงเล็กน้อย โดยมิได้มีผลกระทบต่อลักษณะทั่วไปของมาตราดังกล่าว

 

4.             บทบัญญัติของวรรค 3 ให้ใช้บังคับเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้ที่ได้รับในปีใดๆ ของ 10 ปีแรกของเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับความตกลงนี้มีผลใช้บังคับโดยอนุวรรค (ก) (2) ของข้อ 28 และในปีเงินได้ภายหลัง ซึ่งอาจมีการตกลงในหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อการนี้ โดยตัวแทนผู้ได้รับมอบหมายของรัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

 

5.             ในกรณีของประเทศไทย ภาษีออสเตรเลียที่จะต้องชำระในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้จากแหล่งภายในประเทศออสเตรเลีย จะยอมให้ถือเป็นเครดิตต่อภาษีไทยที่ต้องชำระในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้นั้น อย่างไรก็ตามเครดิตนั้นจะต้องไม่เกินจำนวนภาษีไทยส่วนที่ได้คำนวณไว้ก่อนที่จะให้เครดิตตามจำนวนที่เหมาะสมกับเงินได้รายการนั้น

 

 

ข้อ 25

วิธีการเพื่อความตกลงร่วมกัน

 

1.             ในกรณีที่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง พิจารณาเห็นว่า การกระทำของเจ้าพนักงานภาษีของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ มีผลหรือจะมีผลให้ตนเองต้องเสียภาษีอากรโดยไม่เป็นไปตามความตกลงนี้ บุคคลผู้นั้นอาจยื่นเรื่องราวของตนต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งตนมีถิ่นที่อยู่ได้ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการแก้ไขที่กฎหมายภายในของแต่ละรัฐได้บัญญัติไว้ การยื่นเรื่องราวดังกล่าวจะต้องยื่นภายในเวลา 3 ปี นับจากที่ได้รับแจ้งครั้งแรกเกี่ยวกับการกระทำอันนั้น

 

2.             ถ้าคำกล่าวอ้างของผู้เสียภาษีนั้นปรากฏแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจว่ามีเหตุผลพอสมควรและถ้าตนไม่สามารถที่จะหาทางแก้ไขอันเหมาะสมได้ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะต้องพยายามแก้ไขกรณีดังกล่าวโดยความตกลงร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อนอันไม่เป็นไปตามความตกลงนี้

 

3.             เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะต้องพยายามร่วมกันในการแก้ไขข้อยุ่งยากหรือข้อสงสัยใดๆ อันเกิดขึ้นเกี่ยวกับการตีความหรือการใช้บังคับความตกลงนี้ โดยความตกลงร่วมกัน

 

4.             เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองอาจติดต่อกันโดยตรงเพื่อความมุ่งประสงค์ให้บรรลุผลตามบทบัญญัติแห่งความตกลงฉบับนี้

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011