เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่21883/2555 
นางเพลินจิตต์ สิริธนาธรโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง เงินได้ การอุทธรณ์การประเมิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 40 (8) มาตรา 42
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 มาตรา 41

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) เลขที่ 02008330-25470531-001-00228 ถึง 00237 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) เลขที่ สภ.2/อธ.3/3/1.1 ถึง 1.10/34/48 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2548 และงดหรือลดภาษีเงินได้ เบี้ยปรับ หรือเงินเพิ่มแก่โจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมิน เลขที่ 02008330-25470531-001-00228 และแก้ไขคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.2 /อธ.3/1.1/34/48 ให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมิน เลขที่ 02008330-25470531-001-00229 ถึง 00230 และแก้ไขคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.2/อธ.3/1.2/34/48 และเลขที่ สภ.2/อธ.3/1.3/34/48 ให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมิน เลขที่ 02008330-25470531-001-00233 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.2/อธ.3/1.6/34/48 ให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมิน เลขที่ 02008330-25470531-001-00234 ถึง 00235 และแก้ไขคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.2 /อธ.3/1.7 ถึง 1.8/34/48 ให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมิน เลขที่ 02008330-25470531-001-00236 ถึง 00237 และแก้ไขคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.2 /อธ.3/1.9 ถึง 1.10/34/48 นอกจากนั้นให้เป็นไปตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ตามคดีหมายเลขดำที่ 596/2548 หมายเลขแดงที่ 51/2550
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มิได้ยกข้ออ้างตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ขึ้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จะยกขึ้นเป็นข้ออ้างในการอุทธรณ์ต่อศาลได้หรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า มาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร วางเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลเท่านั้น มิได้กำหนดว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลจะอ้างเหตุตามบทกฎหมายอื่นเป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งเพื่อชี้ว่าการประเมินภาษีไม่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาใหม่ไม่ได้ ทั้งปัญหาในเรื่องที่ว่าคำสั่งประเมินภาษีโจทก์ เป็นการชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาทางปกครองฯ หรือไม่ เป็นคนละกรณีกับปัญหาเรื่องความถูกต้องของการประเมินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ย่อมไม่อยู่ในบังคับที่ต้องยกขึ้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ด้วย ดังนั้น เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินภาษีอากรตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว โจทก์จึงยกข้ออ้างตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาทางปกครองฯ เป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งขึ้นอ้างในชั้นศาลได้ แม้มิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ไว้ในการอุทธรณ์ก็ตาม อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า หนังสือแจ้งการประเมินเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาทางปกครองฯ หรือไม่ เห็นว่า คำสั่งทางปกครองที่ไม่ระบุเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาทางปกครองฯ นั้น จะถือว่าเป็นคำสั่งที่ไม่มีผลบังคับมิได้ เพราะมาตรา 41 (2) แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาทางปกครองฯ บัญญัติให้มีการแก้ไขความไม่สมบูรณ์ของคำสั่งนี้ได้โดยการจัดให้มีเหตุผลภายหลัง เมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งเหตุผลเพิ่มเติมแก่โจทก์ในระหว่างมีการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว อันเป็นการจัดให้มีเหตุผลก่อนสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ ตามมาตรา 41 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาทางปกครองฯ จึงเป็นการชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปว่า กรณีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มขึ้นนั้นเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า เจ้าพนักงานประเมินคิดคำนวณภาษีไม่ถูกต้อง เนื่องจากกรณีเจ้าพนักงานฯ หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาให้ในอัตราร้อยละ 50 ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายให้อำนาจกระทำได้ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงคำนวณใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้นำภาษีที่เกิดจากรายการอื่น หรือนำเงินได้อย่างอื่นมาคำนวณเพื่อเรียกเก็บภาษีแต่อย่างใด จึงเป็นเพียงการวินิจฉัยปัญหาตามประเด็นที่เจ้าพนักงานฯ ทำการประเมินไว้โดยมิได้อาศัยข้อเท็จจริงใดซึ่งโจทก์ไม่มีโอกาสโต้แย้ง กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยเพิ่มเติมในประเด็นข้ออื่นอันเป็นการเกินคำขอ หรือเป็นการใช้อำนาจของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเก็บภาษีจากโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น แม้จะเป็นกรณีที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้โจทก์ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจกระทำได้ ตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปว่า เงินได้ในปีภาษี 2538 ปีภาษี 2542 ปีภาษี 2544 และปีภาษี 2545 ตามจำนวนที่โจทก์อ้างว่า เป็นเงินที่บุตรของโจทก์มอบให้โดยเสน่หาเนื่องในวันสำคัญตามประเพณี และเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ผู้เป็นมารดา ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีรายได้จากบุตรไม่รวมในวาระสำคัญในปี 2535 ถึงปี 2540 และปี 2541 ถึงปี 2545 เงินจำนวนมากที่โจทก์ได้รับนับว่าเป็นกรณีพิเศษที่โจทก์น่าจะจดจำได้ว่าเป็นเงินได้ที่ได้มาอย่างไร การที่โจทก์อ้างว่าพยานมอบเงินให้แก่โจทก์โดยเสน่หาเนื่องในวันสำคัญตามขนบธรรมเนียมประเพณีนั้น ข้อนำสืบของโจทก์เป็นการเลื่อนลอยขัดต่อเหตุผล จึงรับฟังไม่ได้ว่าเงินได้นี้เป็นเงินที่โจทก์ได้รับจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีหรือค่าอุปการะเลี้ยงดูดังที่โจทก์อ้าง คงฟังได้ว่าเป็นเพียงการหาเหตุสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์เท่านั้น ถือได้ว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินได้จากการอื่นอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปว่า เงินได้ปีภาษี 2538 ปีภาษี 2539 (ครึ่งปี) โจทก์อ้างว่า เป็นเงินที่โจทก์รับคืนจากการทดรองจ่ายแทนบริษัท พีท ทรานสปอร์ต จำกัด ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง โจทก์จึงมีภาระพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์ออกเงินส่วนตัวทดรองจ่ายแทนบริษัทฯ ไปก่อนอันเป็นเหตุให้บริษัทฯ ต้องขอใช้คืนเงินให้ในภายหลัง โดยเฉพาะเงินจำนวนดังกล่าวมีจำนวนสูงและหลายจำนวน ทั้งนิติบุคคลต้องจัดทำและเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี แต่เมื่อพิจารณาใบเสร็จรับเงิน หรือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่โจทก์นำส่งทั้งหมดแล้ว ไม่ปรากฏว่าในปี พ.ศ.2538 บริษัทฯ ได้รับเงินจากลูกค้าอันจะนำมาจ่ายคืนโจทก์ในปีภาษีดังกล่าวได้แต่อย่างใด ทั้งผู้รับมอบอำนาจของโจทก์เคยให้ถ้อยคำว่า เงินได้ดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากการก่อสร้างของบริษัทฯ เงินได้ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ เมื่อเจ้าพนักงานฯ ไม่เชื่อถือเนื่องจากไม่ปรากฏว่า มีการนำเงินจากการรับเหมาก่อสร้างตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเข้าบัญชีดังกล่าวโจทก์จึงอุทธรณ์ว่าบัญชีดังกล่าวเปิดในนามโจทก์เพื่อสะดวกในการฝากและถอนเงินสด ข้อกล่าวอ้างของโจทก์สับสนฟังเป็นยุติไม่ได้ การที่เจ้าพนักงานฯ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้นำยอดเงินฝากเข้าบัญชีดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร จึงเป็นการชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า เงินได้ที่โจทก์อ้างว่า กู้ยืมมาจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำกัด ปีภาษี 2538 จำนวน 500,000 บาท ปีภาษี 2539 จำนวน 153,620 บาท และ 150,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อตรวจสอบสัญญากู้เงินของโจทก์เปรียบเทียบกับบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 017-2-74021-9 แล้ว ไม่พบรายการเงินฝากในบัญชีที่ตรงกับรายรับจากเงินกู้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ฯ นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าเงินฝากบัญชีดังกล่าว ไม่ใช่เงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้ แต่โจทก์มิได้นำสืบให้รับฟังได้ จึงต้องถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ตามการประเมินของเจ้าพนักงานฯ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า เงินได้ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเงินช่วยเหลืองานศพสามีโจทก์ ปีภาษี 2543 จำนวน 300,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อนำสืบของโจทก์ไม่ถึงกับเป็นพิรุธ ทำให้ไม่มีน้ำหนักรับฟังไม่ได้เลยทีเดียว เมื่อจำเลยไม่นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าเงินที่โจทก์ได้รับในปีภาษี 2543 จำนวน 300,000 บาท เป็นเงินช่วยเหลืองานศพสามีโจทก์ โจทก์ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษี ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า เงินที่โจทก์อ้างว่าเป็นเงินทดรองจ่าย ชุมชน 70 ไร่ ปีภาษี 2544 จำนวน 70,000 บาท และ 50,000 บาท ปีภาษี 2545 จำนวน 70,000 บาท และ 70,000 บาท เงินที่โจทก์อ้างว่าเป็นเงินรับคืนจากศาลเจ้าพ่อพระประแดง ปีภาษี 2544 จำนวน 60,615.51 บาท ปีภาษี 2545 จำนวน 28,310.73 บาท และเงินได้จากการเล่นแชร์ ปีภาษี 2544 จำนวน 170,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์หรือไม่ เห็นว่าในส่วนเงินทดรองจ่ายชุมชน 70 ไร่ พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าเงินเหล่านี้เป็นเงินทดรองจ่ายชุมชน 70 ไร่ ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ในส่วนเงินจากศาลเจ้าพ่อพระประแดงนั้น ข้อนำสืบของโจทก์มีเหตุผลเชื่อถือได้ เมื่อจำเลยไม่นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าเป็นจริงดังที่โจทก์อ้าง ในส่วนเงินได้จากการเล่นแชร์จำนวน 170,000 บาท นั้น พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับเงินเพิ่มแก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปีภาษี 2538 ปีภาษี 2539 และปีภาษี 2542 เนื่องจากโจทก์เข้าใจโดยสุจริตว่าเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ยังให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานฯ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รวมทั้งนำที่ดินมาจำนองเป็นประกันการชำระภาษี แสดงว่าโจทก์มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าภาษีนั้น เห็นว่า โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหลายปี เป็นยอดเงินจำนวนมากและหลายจำนวน ซึ่งเงินได้หลายจำนวนไม่มีกรณีที่โจทก์จะแปลความหมายหรือเข้าใจความหมายของกฎหมายผิดพลาด ในชั้นตรวจสอบภาษีอากร โจทก์นำพยานหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรของจำเลย แต่ก็พิสูจน์ที่มาของเงินส่วนใหญ่ไม่ได้ จึงไม่เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบเท่าที่ควร การที่โจทก์จำนองที่ดินเป็นประกันการชำระค่าภาษีอากร เป็นการกระทำหลังจากจำเลยยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์ จะถือว่าโจทก์มีเจตนาชำระภาษีตามการประเมินยังฟังไม่ถนัด ตามพฤติการณ์ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาลดเบี้ยปรับแก่โจทก์ คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย จึงเหมาะแก่พฤติการณ์แห่งคดีและนับว่าเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว กรณีไม่มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มให้แก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอโจทก์ในส่วนที่ขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลขที่ 02008330-25470531-001-00228 ถึง 00230 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.2/อธ.3/1.1 ถึง 1.3/34/48 ในส่วนเงินฝากบัญชีธนาคารกสิกรไทยฯ เลขที่ 017-2-74021-9 ปีภาษี 2538 จำนวน 500,000 บาท ปีภาษี 2539 จำนวน 153,620 บาท และ 150,000 บาท และยกคำขอโจทก์ในส่วนที่ขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เลขที่ 02008330-25470531-001-00234 ถึง 00237 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.2/อธ.3/1.7 ถึง 1.10/34/48 ในส่วนเงินฝากบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ฯ เลขที่ 035-2-34076-6 ปีภาษี 2544 จำนวน 70,000 บาท และ 50,000 บาท ปีภาษี 2545 จำนวน 170,000 บาท 70,000 บาท และ 70,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 14-02-2021