เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่21882/2555 
นางสาวไหน แซ่ฟ่านโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง ภาษีอากร
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (8) มาตรา 42 (10)

เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมิได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ประจำปีภาษี 2537 ถึง 2545 ตามมาตรา 56 และ 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 23 88/4 91/21 และ 123 แห่งประมวลรัษฎากร ให้โจทก์นำเอกสารหลักฐานตามที่แจ้งในหมายเรียกพร้อมบัญชีตามกฎหมายว่าด้วย การบัญชีตามประมวลรัษฎากร หลักฐานเอกสารประกอบการลงบัญชี และรายงานพร้อมใบเสร็จรับเงินชำระภาษีสำหรับปีภาษีดังกล่าว ไปมอบให้เจ้าพนักงานประเมินเพื่อทำการตรวจสอบ หมายเรียกดังกล่าว เป็นเพียงการเตรียมการและดำเนินการของเจ้าพนักงานประเมินเพื่อนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครองต่อไป จึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครองอันจะต้องมีเหตุผลตามที่โจทก์อ้าง ส่วนที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่า หมายเรียกดังกล่าวไม่ได้แจ้งสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ด้านหลังของหมายเรียกฉบับดังกล่าวมีคำเตือน ผู้รับหมายหลายประการทั้งยังระบุไว้ด้วยว่า กรณีบัญชีเอกสารหรือพยานหลักฐานประกอบการพิจารณา มีปริมาณมากและไม่สะดวกที่จะนำมาให้ในวันเวลาซึ่งกำหนดนัดตามหมายเรียก ผู้เสียภาษีอากรจะมีหนังสือก่อนหรืออย่างช้าภายในวันซึ่งกำหนดนัดตามหมาย เรียกร้องขอให้เจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบ ณ สำนักตามที่ระบุไว้ในหมายเรียกก็ได้ กรณีถือได้ว่าจำเลยได้แจ้งสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามกฎหมายแล้ว สำหรับหนังสือแจ้งการประเมินนั้นนอกจากจะมีรายละเอียดของปีภาษี ประเภทเงินได้พึงประเมิน จำนวนค่าใช้จ่ายซึ่งได้หักให้ ค่าลดหย่อน ภาษีที่ต้องชำระ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มแล้ว ยังระบุเหตุผลที่ประเมินไว้ด้วยว่า เนื่องจากโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ จากการตรวจสอบพบว่าโจทก์มีรายการเงินฝากเข้าบัญชีธนาคาร ทั้งปรากฏในแบบหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ระบุชื่อธนาคาร เลขที่บัญชี จำนวนเงิน วิธีการคำนวณ หักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน เมื่อปรับปรุงตามเงื่อนไขแห่งประมวลรัษฎากรแล้ว โจทก์ต้องเสียภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวนเท่าใด ดังนั้น หนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารายพิพาทจึงเป็นหนังสือแจ้งการประเมินที่ชอบด้วยมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว
โจทก์มีบัญชีเงินฝากหลายบัญชี มีเงินฝากจำนวนมาก เจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์พิสูจน์ที่มาของเงินฝากธนาคาร แต่ละบัญชีโจทก์ไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์แหล่งที่มาของรายการเงินฝากได้ เจ้าพนักงานประเมินถือว่ารายการเงินฝากดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามาตรา 40 (8) ที่โจทก์อ้างว่า รายการเงินฝากในปีภาษี 2538 (ครึ่งปี) จำนวน 200,000.- บาท เป็นเงินที่โจทก์ได้รับจากลูกค้าของโจทก์ซึ่งอยู่ในดินแดนไต้หวัน เพื่อให้โจทก์ซื้อทุเรียนจากเจ้าของสวนที่จังหวัดจันทบุรีส่งไปให้ และรายการเงินฝาก ปี 2539 (ครึ่งปี) จำนวน 205,086.- บาท เป็นเงินที่โจทก์ได้รับคืนจากเจ้าของสวนผลไม้ที่จังหวัดจันทบุรี ตามที่โจทก์ทวงถามเพราะเจ้าของสวนไม่สามารถส่งผลไม้ให้โจทก์ตามที่สั่งซื้อได้นั้น โจทก์มี ตัวโจทก์และนาง ม. ซึ่งเป็นเพื่อนของโจทก์เบิกความลอยๆ ไม่ปรากฏว่าบริษัทในดินแดนไต้หวันและเจ้าของสวนผลไม้ที่จังหวัดจันทบุรีเป็นใคร มีสถานประกอบการหรือถิ่นที่อยู่อยู่ที่ไหน ทั้งไม่ได้แสดงเอกสารหรือหลักฐานใดสนับสนุนว่า มีการสั่งซื้อผลไม้หรือมีการโอนเงินจำนวนดังกล่าว เมื่อพิจารณาถึงยอดเงินที่ฝากเข้าบัญชีธนาคาร ก. แล้วพบว่ามีการนำเงินฝากเข้าบัญชี แต่ต่อมามีรายการถอนเงิน จากบัญชีดังกล่าว ห่างจากวันที่โจทก์อ้างว่าได้รับเงินจากบริษัทดินแดนไต้หวันเพื่อชำระค่าผลไม้แล้ว ถึง 4 เดือน อันเป็นเรื่องผิดวิสัยในการติดต่อซื้อขาย โจทก์เองก็ให้การต่อเจ้าพนักงานประเมินในชั้นตรวจสอบภาษีว่า โจทก์ทำงานเป็นแม่บ้านที่บริษัท และได้ลาออกโดยไม่ได้ประกอบอาชีพใดอีก แต่ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์กลับชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์ว่า โจทก์ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับที่บริษัททัวร์ ลูกค้าให้เงินโจทก์ เพื่อซื้อสินค้าให้ โจทก์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวฝาก เข้าบัญชี และได้ถอนเงินจำนวนนี้เพื่อชำระค่าสินค้าแทนลูกค้า ต่อมาโจทก์กลับไปอ้างอีกว่าเงินจำนวนซึ่งชำระสินค้าแทนลูกค้าไปแล้วนั้น ได้ฝากเข้าบัญชีธนาคารและชำระค่าสินค้าแทนลูกค้าอีก คำให้การของโจทก์ต่อ เจ้าพนักงานประเมิน และต่อเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์จึงไม่อยู่กับร่องกับรอยและขัดกับคำเบิกความของโจทก์ ที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่า กิจการของโจทก์มิใช่กิจการใหญ่และการค้าขายล้มเหลวไม่สามารถส่งผลไม้ให้แก่คู่สัญญา โจทก์จึงไม่ทราบชื่อบริษัทในดินแดนไต้หวัน การซื้อทุเรียนต้องโอนเงินล่วงหน้าหลายเดือน สรุปทำนองว่า โจทก์ได้นำสืบที่มาของแหล่งเงินได้ในบัญชีแล้ว นั้น เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อยไม่เพียงพอที่จะรับฟัง สำหรับรายการเงินฝากในปีภาษี 2541 และปีภาษี 2542 (ครึ่งปี) นั้น โจทก์มีตัวโจทก์ เบิกความเป็นพยานว่า นาย ม. นำเงินตราสกุลดอลลาร์สหรัฐเข้ามาในประเทศไทย และมอบแก่โจทก์ โจทก์นำเงินตราดังกล่าวไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทย ก่อนที่จะนำเข้าฝากในบัญชีธนาคารต่าง ๆ ของโจทก์ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ โจทก์คงมีเพียงรายการแสดงการคำนวณตัวเลขและอัตราแลกเปลี่ยนเงินมาแสดง โดยไม่ปรากฏชื่อที่อยู่หรือสถานประกอบการที่รับแลกเปลี่ยนเงินตรา และไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนคำเบิกความ ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่านาย ม. นำเงินจำนวนดังกล่าวเข้ามาจากต่างประเทศแล้วมอบให้โจทก์เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและซื้อบ้านพร้อมที่ดิน เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถือว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามาตรา 40 (8)แห่งประมวลรัษฎากร ชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์นำสืบแหล่งที่มาของรายการเงินฝาก ซึ่งมี 2 รายการ จำนวน 3,230,000.- บาท และ 8,000.- บาท เป็นเงินส่วนที่นาย ม. ให้โจทก์ เพื่อเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์กับบุตร ซื้อรถยนต์และของตกแต่งบ้าน ต่อมามีชาวไต้หวันซึ่งเคยค้าขายผลไม้และรู้จักกับโจทก์ติดต่อขอกู้ยืมเงินจากโจทก์ ตกลงให้ดอกเบี้ย โดยผู้กู้ออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าสั่งจ่ายเงิน แก่โจทก์ นั้นเห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์เป็นเรื่องเลื่อนลอย เพราะการให้ผู้อื่นกู้เงินโจทก์ควรจะต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีผู้ค้ำประกันการกู้ยืม หรือมีการจำนองทรัพย์สินเป็นประกันการชำระหนี้ แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติวิสัย ข้อกล่าวอ้างของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อย ทั้งการรับฟังว่าเงินที่เพิ่มขึ้นจำนวนดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8)แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้หักค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์เป็นการเหมาร้อยละ 50 ตามมติ กพอ. ครั้งที่ 2/2536 ลงวันที่ 27 มกราคม 2536 ย่อมเป็นคุณแก่โจทก์มากกว่าที่จะรับฟังว่าเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเป็นเงินได้ ตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ส่วนเงินได้ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับจากนาย ม. จำนวน 3,000,000.- บาท เพื่อนำไปซื้อที่ดินไปใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยโจทก์นำเงินตราต่างประเทศสกุลดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับจากนาย ม.ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทย แล้วนำไปซื้อแคชเชียร์เช็ค เพื่อชำระราคาที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวให้แก่นางสาว ด.ผู้ขาย ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2541 ทำสัญญาซื้อขายตามสำเนาแคชเชียร์เช็คและหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน โจทก์คงมีตัวโจทก์และนาย ม. เบิกความอย่างเลื่อนลอย โดยไม่ปรากฏหลักฐานการนำเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเข้ามาในประเทศไทย และไม่ปรากฏหลักฐานการแลกเปลี่ยนเงินดังกล่าวเป็นเงินไทย รวมทั้งที่มาของแหล่งเงินได้ อันเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ ยังฟังไม่ได้ว่า เป็นเงินที่ได้จากนาย ม. ซึ่งอยู่กินกับโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนสมรส ที่โจทก์อ้างว่า ขณะนั้นมีกฎหมายห้ามมิให้คนต่างด้าวถือครองที่ดินหรือห้ามโจทก์ซึ่งเป็นภริยาคนต่างด้าว ถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าว โจทก์จึงให้นาง อ. มาถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวแทนโจทก์ไปก่อนโดยโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะตัวบ้านตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขาย นั้น ก็ปรากฏว่ามีการทำสัญญาซื้อขายบ้านดังกล่าวหลังจากนางสาว ด.โอนขายที่ดินให้แก่ นาง อ. แล้วเกือบสองเดือน จากนั้นนาง อ.จึงโอนโฉนดที่ดิน ให้แก่โจทก์ ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน และเจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาที่ดินและบ้านเพื่อเรียกเก็บ ค่าธรรมเนียมและจดทะเบียนสิทธินิติกรรมที่โจทก์นำสืบว่า ได้รับเงินแล้วนำเงินจำนวนนี้ไปซื้อบ้านพร้อมที่ดินเพื่ออยู่อาศัยกับบุตรนั้น ยังมีข้อพิรุธสงสัยฟังไม่ได้ว่า เป็นเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือ จากการให้ โดยเสน่หาจากนาย ม. ซึ่งไม่ต้องรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 14-02-2021