คำพิพากษาฎีกาที่21881/2555 | |
บริษัท อรรถเคหพัฒน์ จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง ราคาตลาดกรณีโอนทรัพย์สิน | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) | |
การที่โจทก์ลงประกาศโฆษณาขายห้องชุดพิพาทในราคาใกล้เคียงกับผู้ขายรายอื่นหลายครั้งอันเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นที่สนใจตกลงซื้อไปก่อนได้ แต่ไม่มีผู้สนใจซื้อ นอกจากจะเป็นเหตุผลแสดงว่าโจทก์ไม่ได้มุ่งที่จะขายแก่ผู้ซื้อเพื่อเอื้อประโยชน์กันแต่อย่างใดแล้ว ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า แม้โจทก์จะประกาศขายในราคาต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ก็ยังไม่มีผู้ประสงค์ที่จะซื้อ ในที่สุดโจทก์ต้องขายในราคาที่ต่ำลงอีกเล็กน้อยจึงพอที่จะขายได้ ย่อมเห็นได้ว่า ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินมิใช่ราคาที่อาจซื้อขายกันได้ตามปกติในขณะนั้น ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2540 โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจมีภาวะวิกฤติอยู่หลายปี ส่งผลกระทบให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเป็นเหตุให้การประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับการกระทบกระเทือน ดังนั้น ราคาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในขณะนั้นย่อมต้องต่ำกว่าปกติ และต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน การที่จำเลยถือเอาราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นราคาตลาดที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น เป็นการขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริง จึงปราศจากเหตุผลที่จะรับฟังว่า ราคาประเมินที่จำเลยถือเอาดังกล่าวเป็นราคาตลาดในวันที่โอนตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยจึงฟังข้อเท็จจริงได้ว่า โจทก์ขายห้องชุดพิพาท 4 ห้องไปในราคาเท่าที่ควรจะเป็นในช่วงเวลาและภาวะเศรษฐกิจขณะที่ขายนั้น แม้จะต่ำกว่าราคาในภาวะปกติก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่จำเลยประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์เพิ่มโดยเหตุผลว่าโจทก์ขายห้องชุดพิพาทต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ถือว่าเป็นการขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุสมควร จึงไม่ชอบ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้อง |