เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่19074/2555 
บริษัท สตาร์ครูซเซล ชิปปิ้ง แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัดโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง ภาษีอากร
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ มาตรา 65 ตรี มาตรา 66 มาตรา 67 และมาตรา 69
การเสียภาษีจากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยทั่วไปต้องปฏิบัติตามมาตรา 65แห่งประมวลรัษฎากร คือ เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือกำไรสุทธิซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) และเสียภาษีตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวดนี้ สำหรับกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร กระทำกิจการขนส่งผ่านประเทศต่างๆ ให้เสียภาษีเฉพาะกิจการขนส่งตามเกณฑ์ในมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร โดย (1) ในกรณีรับขนคนโดยสาร ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียมและประโยชน์อื่นใด ที่เรียกเก็บในประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนคนโดยสารนั้น โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกิจการขนส่งผ่านประเทศต่าง ๆ ตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร (ภ.ง.ด.52) ดังนั้น การเสียภาษีเงินได้ของบริษัทดังกล่าว ทั้งแบบ ภ.ง.ด.50 และแบบ ภ.ง.ด.52 ต่างมีฐานภาษีจากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเอง และรายได้ที่นำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบ ภ.ง.ด.50 และแบบ ภ.ง.ด.52 ซึ่งพิพาทกันในคดีนี้เป็นรายได้จำนวนเดียวกัน ที่ต่างกันก็แต่เฉพาะการคำนวณภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.50 จะคำนวณจากฐานกำไรสุทธิ ส่วนการคำนวณภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.52 จะคำนวณอัตราร้อยละ 3 ของค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บ ในประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องจากการรับขนคนโดยสาร การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีจากการ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกิจการขนส่งผ่านประเทศต่าง ๆ ตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร (ภ.ง.ด.52) นั้น เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจะต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ก่อนว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากร พ.ศ. 2539 ข้อ 13 กำหนดระยะเวลาการตรวสอบตามความยากง่ายของคำร้องขอคืนภาษี ซึ่งคดีนี้ข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า ตัวแทนโจทก์ไม่ได้มอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี อีกทั้งไม่สามารถให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศทั้งสามบริษัทให้เพียงพอแก่การตรวจสอบความถูกต้องของการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ขอคืนได้ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลย จึงยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่า บริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศทั้งสามจะได้รับคืนภาษีตามจำนวนที่ขอคืนหรือไม่ อย่างไร การขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทนั้น เจ้าพนักงานของจำเลยจะต้องตรวจสอบบัญชีและเอกสารต่าง ๆ การที่จำเลยยังไม่อาจคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศโดยมีโจทก์เป็นตัวแทน จึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ ตามมาตรา 55 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528
การที่เจ้าพนักงานของจำเลย เห็นว่า กรณีของโจทก์มิใช่กรณีที่ขอคืนชัดแจ้งซึ่งไม่จำต้องตรวจสอบตามระเบียบดังกล่าว ตามข้อ 13.1 อันจะสามารถสั่งคืนได้ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง แต่เป็นกรณีที่จำเป็นต้องตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ อันได้แก่กรณีที่ต้องตรวจสอบให้ปรากฏยอดเงินได้สุทธิหรือกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ตามข้อ 13.2 ซึ่งผู้ขอคืนภาษีเป็นผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่ ตามระเบียบกรมสรรพากรดังกล่าวข้อ 13.2 (2) ให้ดำเนินการตรวจให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี หากไม่แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าวให้ขอขยายเวลาได้อีกหนึ่งครั้งไม่เกิน 3 เดือน การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขณะที่ยังอยู่ ในระยะเวลาการตรวจสอบ จึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528

 

ปรับปรุงล่าสุด: 14-02-2021