เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่14587/2555 
นายเสรี บู่ตามใจโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีประเมินจากบัญชีเงินฝากธนาคารและการออกหมายเรียกี
กฎหมายที่เกี่ยวข้องพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา37 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 41
ประมวลรัษฎากร มาตรา 8 มาตรา 19 มาตรา 40(2)(6) และ (8)
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
การออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องหรือไม่บริบูรณ์ โดยต้องออกหมายเรียกแก่โจทก์ก่อนขอหมายเรียกบัญชีเงินฝากของโจทก์จากธนาคารนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเนื่องจากมูลเหตุในการตรวจสอบภาษีของโจทก์เกิดจากการวิเคราะห์รายได้ของคณะบุคคลเจ้าพนักงานประเมินจึงขอทราบรายละเอียดบัญชีเงินฝากของโจทก์จากธนาคารพาณิชย์ เป็นกรณีเจ้าพนักงานประเมินรวบรวมหลักฐานอันควรแก่เรื่องประกอบเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ หาใช่เป็นการออกหมายเรียกที่มิชอบ

การออกหมายเรียกซึ่ง ว ในฐานะผู้อำนวยการสำนัก ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมสรรพากรให้มีอำนาจอนุมัติขยายเวลาออกหมายเรียกเกินกว่า 2 ปี เป็นการอนุมัติให้ขยายเวลาโดยผู้มีอำนาจปฏิบัติราชการแทนอธิบดีอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ในส่วนของเรื่องแบบฟอร์มหมายเรียก ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าใช้แบบฟอร์มไม่ถูกต้องนั้น เป็นข้อต่อสู้ที่ยกขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์มิใช่ข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 จึงไม่รับวินิจฉัยให้

เจ้าพนักงานการประเมินได้ออกหมายเรียกโจทก์ในฐานะผู้จัดการคณะบุคคลไปพบโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปที่สำนักงานของโจทก์ แต่ส่งไม่ได้โจทก์โทรศัพท์แจ้ง อ ว่าไม่ได้รับหมายเรียกขอให้ส่งหมายเรียกทางโทรสาร เมื่อโจทก์ได้รับหมายเรียกทางโทรสารโจทก์ก็ไปพบพนักงานประเมินและได้ให้ถ้อยคำไว้ เจ้าพนักงานประเมินได้ให้โจทก์ลงลายมือชื่อรับหมายเรียกไว้ด้วย จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับหมายเรียกแล้ว

เอกสารชี้แจงเหตุผลการประเมินเป็นการแจ้งก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เข้าลักษณะเป็นการแจ้งก่อนสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ขัดต่อมาตรา 41(2) และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และเมื่อพิจารณาหนังสือแจ้งการประเมิน ประกอบหนังสือชี้แจงเหตุผลในการประเมิน มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ มีรายละเอียดของการแจ้งจำนวนภาษี เบี้ยปรับและ เงินเพิ่ม ได้ระบุข้อกฎหมายที่อ้างอิง และข้อพิจารณาข้อสนับสนุนในการใช้ดุลยพินิจในการประเมิน ทั้งหนังสือขอเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งการประเมินก็เปิดโอกาสให้โจทก์อุทธรณ์เพิ่มเติมต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้หนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวจึงชอบแล้ว

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการเตรียมการหรือการดำเนินการใดๆในเรื่องการพิจารณาเพื่อออกหนังสือแจ้งการประเมินของของเจ้าพนักงานประเมินและการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในคดีนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ในเรื่องหลักการไต่สวน หลักการให้โต้แย้ง หลักการเปิดเผย และหลักการเป็นกลาง อีกทั้งเจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดำเนินการตามระเบียบกรมสรรพากรซึ่งระเบียบทั้งสองฉบับมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เห็นว่าตามสำนวนการตรวจสอบภาษีและสำนวนการพิจารณาอุทธรณ์ตลอดจนคำเบิกความของพยานจำเลย ได้ความว่าเจ้าพนักงานประเมินรับฟังตามข้ออ้างของโจทก์เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างได้เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจทำการประเมินภาษีโจทก์เพิ่มได้และระเบียบของกรมสรรพากรมิใช่กฎหมายดังนั้นไม่มีกรณีต้องเปรียบเทียบถึงหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการต่ำกว่าพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือไม่ หากระเบียบใดขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายก็เป็นเรื่องที่โจทก์ชอบจะไปว่ากล่าวในกรณีอื่นต่อไป

กรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากรคณะบุคคลยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2540 ถึงปีภาษี 2544 ตรงกับข้อมูลหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายและสูงกว่ารายได้ในบัญชีธนาคาร เจ้าพนักงานประเมินมิได้ประเมินภาษีในประเด็นนี้ จึงไม่มีประเด็นพิจารณา
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร ค่าสอบบัญชี เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมโดยคำนวณภาษีตามเกณฑ์เงินสด โดยอาศัยข้อมูลของสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศของกจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือและโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานให้เป็นอย่างอื่น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เห็นว่า โจทก์มิได้นำสืบรายละเอียดของเงินเข้าออกบัญชีดังกล่าวตามที่ปรากฏในคำอุทธรณ์ของโจทก์ว่าเงินฝากรายการใดเป็นการโอนเงินจากบัญชีส่วนตัวของโจทก์เข้าบัญชีเงินฝากของคณะบุคคลหรือเป็นเช็คค่าหุ้นของโจทก์ฝากเข้าบัญชีคณะบุคคลเพื่อเรียกเก็บเงินแทนโจทก์ และไม่มีเหตุผลที่บริษัท ฮ จะต้องสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์เพื่อเป็นเงินสำรองไว้ใช้จ่ายในกิจการของบริษัทในกลุ่มบริษัท ช เป็นเงินจำนวนมากถึง 10,000,000.-บาท ในขณะที่โจทก์ก็มีบัญชีของโจทก์เอง จึงไม่มีความจำเป็นที่โจทก์จะต้องนำเช็คที่สั่งจ่ายให้โจทก์เป็นผู้รับเงินเข้าบัญชีเงินฝากของคณะบุคคลเพื่อเรียกเก็บเงินแทนโจทก์แต่ประการใด พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ตามฟ้อง การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

การที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 75 ของเงินได้พึงประเมินของโจทก์ ไม่ใช่อัตราร้อยละ 50 ของเงินได้ตามมติ กพอ.ครั้งที่ 2/2536 นั้นเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ยกขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยให้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คณะบุคคล อ มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการที่ปรึกษาด้านบัญชี วางระบบบัญชีและงานสอบบัญชี ย่อมมีความรู้เกี่ยวกับภาษีอากร การได้มาซึ่งข้อมูลบัญชีเงินฝากของคณะบุคคล อ เพื่อนำมาวิเคราะห์แบบ เกิดจากเจ้าพนักงานประเมินได้ข้อมูลมาจากสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศของ ก มิใช่โจทก์เป็นผู้ให้ข้อมูลดังกล่าว ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ให้ความร่วมมือด้วยดีในการตรวจสอบภาษี ไม่มีเหตุสมควรลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์

 

ปรับปรุงล่าสุด: 14-02-2021