เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่11270/2555 
นายสยาม ทรัพย์วรสิทธิ์โจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง การประเมินภาษีกรณีผู้เสียภาษีถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 39 มาตรา 40(8) มาตรา 49 มาตรา 56
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 มาตรา 8 ทวิ
 

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษเจ้าพนักงานของจำเลยมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลงวันที่ 26 มีนาคม 2547 ให้โจทก์ชำระภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มโดยระบุเหตุผลว่า โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่มีเงินฝากเข้าบัญชีธนาคาร ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเงินฝากแต่ละรายการได้มาอย่างไรและไม่มีข้อมูลว่าเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี จึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อไม่สามารถพิสูจน์แหล่งที่มาได้จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้อื่นๆ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยพิจารณาหักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินได้ดังกล่าว โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อมาจำเลยได้มีหนังสือเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งการประเมินแก่โจทก์จากนั้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่า การประเมินถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกับเหตุผลในการประเมิน
กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า หนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 37 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือไม่ และจำเลยแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2536 แก่โจทก์ภายในกำหนดอายุความหรือไม่ ศาลเห็นว่า ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2536 ระบุว่า โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่มีเงินฝากเข้าบัญชีธนาคารไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเงินฝากแต่ละรายการได้มาอย่างไรและไม่มีข้อมูลว่าเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเมื่อโจทก์ไม่สามารถนำส่งเอกสารหลักฐานมาพิสูจน์ที่มาของเงินได้แต่ละรายการข้อกล่าวอ้างของโจทก์เกี่ยวกับการได้มาของเงินจึงไม่อาจรับฟังได้ กรณีดังกล่าวถือได้ว่ามีการระบุข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลยพินิจในการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว นอกจากนี้หนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ยังได้อ้างข้อกฎหมายด้วยว่า เงินฝากดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อไม่สามารถพิสูจน์แหล่งที่มาได้จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้อื่นๆ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยพิจารณาหักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินได้ดังกล่าวอันเป็นการระบุถึงข้อกฎหมายที่อ้างอิงแล้ว จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่จัดให้มีเหตุผลชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เมื่อนับจากวันที่ครบกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2536 จนถึงวันที่มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2536 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2547 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันครบกำหนดยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ถือว่า จำเลยแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2536 แก่โจทก์ภายในกำหนดอายุความ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการดำเนินการตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากรโดยชอบหรือไม่ ศาลเห็นว่า การประเมินให้โจทก์ชำระภาษีถือว่าเป็นวิธีการตรวจสอบและประเมินตามมาตรา 19 ถึงมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบและประเมินโดยวิธีพิเศษโดยกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้น อันจะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรเสียก่อนตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในประเด็นเงินได้และค่าใช้จ่ายชอบหรือไม่ ศาลเห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในประเด็นเงินได้และค่าใช้จ่ายไม่ชอบ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า รายการนำเงินเข้าฝากในบัญชีธนาคารของโจทก์เป็นเงินที่โจทก์ได้มาอย่างไร เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า เป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี กรณีจึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เข้าลักษณะเป็นเงินได้อื่นๆ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ผู้มีเงินได้ดังกล่าวจึงไม่อาจหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 8 ทวิ ของพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ของให้งดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มให้แก่โจทก์นั้น ศาลเห็นว่า สำหรับกรณีของโจทก์ที่มีเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีแต่โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร กรณีจึงไม่มีเหตุอันควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์

 

ปรับปรุงล่าสุด: 14-02-2021