เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่8764/2555 
นางกาญจนา อุดมผลโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง ภาษีอากร
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 16 มาตรา 18 มาตรา 91/2 และพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร
(ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541มาตรา 4(6)

โจทก์ซื้อที่ดินรวมสี่โฉนดและนำไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ต่อธนาคาร และไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ธนาคารตามสัญญา โจทก์และธนาคาร ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์ยินยอมโอนที่ดินทั้งสี่แปลงชำระหนี้ธนาคาร และธนาคารให้สิทธิ์แก้โจทก์ในการซื้อที่ดินทั้งสี่แปลงกลับคืนจากธนาคารได้ภายใน 4 ปี นับแต่โอนชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2544 โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสี่แปลงชำระหนี้ธนาคาร และวันที่ 31 ตุลาคม 2548 โจทก์ซื้อที่ดินทั้งสี่แปลงคืนจากธนาคารวันเดียวกันโจทก์โอนขายที่ดินสามแปลงให้แก่บริษัท ล. จำกัด เจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีส่วนท้องถิ่น จากโจทก์แทนจำเลย โจทก์ยื่นขอภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีส่วนท้องถิ่นต่อจำเลย จำเลยมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่คืนภาษีอากรแก่โจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนการเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีส่วนท้องถิ่น โจทก์ต้องอุทธรณ์การประเมินตามหลักเกณฑ์ วิธีการระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร หรือไม่ เห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มีอำนาจประเมินรายการที่ยื่นเพื่อเสียภาษีตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากร เท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจออกกฎหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน หรือประเมินภาษีโดยใช้ บทบัญญัติมาตราอื่นๆ และตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “เมื่อได้ประเมินแล้ว ให้แจ้ง จำนวนภาษีอากรที่ประเมินไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีจะอุทธรณ์การประเมินก็ได้” เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมิได้ประเมินภาษีตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากร และแจ้งจำนวนภาษีที่ประเมินไปยังโจทก์ โจทก์อ้างว่า ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีส่วนท้องถิ่น จึงขอให้เพิกถอนการเรียกเก็บค่าภาษีดังกล่าว และให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีส่วนท้องถิ่นพร้อมดอกเบี้ย มิใช่กรณีฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โจทก์จึงไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินและมีอำนาจฟ้อง
การที่โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสี่แปลงให้ธนาคาร และขอให้ธนาคาร ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ ซึ่งธนาคาร ผ่อนปรนให้ด้วยการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และตกลงรับโอนหลักทรัพย์โฉนดที่ดินทั้งสี่แปลง เพื่อชำระหนี้เงินกู้ของโจทก์และให้สิทธิโจทก์ซื้อที่ดินกลับคืนจากธนาคาร ภายใน 4 ปีนับแต่วันโอนชำระหนี้ เข้าลักษณะเป็นกรณีธนาคารให้คำมั่นไว้ก่อนว่าจะขายคืนที่ดินนั้นคืนให้แก่โจทก์ ตามมาตรา 454 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งรูปแบบนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสี่โฉนดจากธนาคารแก่โจทย์ได้ทำเป็นสัญญาซื้อขายที่ดิน หาใช่เป็นการไถ่ทรัพย์ขายฝากคืนแต่อย่างใดไม่ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิขอซื้อที่ดินคืนจากธนาคารตามข้อตกลงในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และขายให้แก่บริษัทในวันเดียวกัน จำนวนปีที่โจทก์ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดทั้งสามแปลงนับได้เพียง 1 ปี จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหารือกำไร ตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 4(6) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 โจทก์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 14-02-2021