เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่8763/2555 
บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน)โจทก์
โดยบริษัท ซี เอ็น แอดไวซอรี่ จำกัด ผู้บริหารแผน 
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง ภาษีอากร
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 70,65 ทวิ(9), 91/2(5)
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37

หนังสือแจ้งการประเมินเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร สั่งให้โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระภาษีเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งมีผลอันที่จะก่อนิติสัมพันธ์และมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 บัญญัติว่า “คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (1) ข้อเท็จจริง อันเป็นสาระสำคัญ (2) ข้อกฎหมายที่อ้างอิง (3) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ”และวรรคสามบัญญัติว่า “บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกรณีดังต่อไปนี้ (2) เหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ก็ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ซึ่งข้อเท็จจริงตามสำนวนการตรวจสอบภาษี เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวน เมื่อการตรวจสอบไต่สวนแล้วเสร็จ ก็ได้แจ้งผลการตรวจสอบให้โจทก์ทราบโดยบันทึกคำให้การไว้ด้วย ต่อมาเจ้าพนักงานประเมิน มีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และหนังสือแจ้งภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามผลการตรวจสอบที่ให้โจทก์ทราบนั้น และโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินได้ตรงตามการประเมิน จึงเป็นกรณีที่เหตุผลที่ต้องแสดงนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว จึงไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลอีก
การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เป็นกรณีบังคับผู้จ่ายเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆ หักภาษีก่อนจ่ายหรือทันทีที่จ่ายเมื่อนำส่งแก่ผู้รับเงินได้พึงประเมิน โจทก์ล้างบัญชีเพราะบริษัท ซีเอ็นไอฯ เลิกกิจการและชำระบัญชีโดยไม่ทวงถามจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยจากโจทก์ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมิน จากการอ่านข้อมูลทางบัญชีของโจทก์และประเมินภาษีโดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์มิได้จ่ายดอกเบี้ยให้แก่บริษัท ซีเอ็นไอฯ ตามการประเมิน กรณีมิใช่โจทก์และบริษัท ซีเอ็นไอฯ หักกลบลบหนี้กันเพราะโจทก์ลงทุน ถือหุ้นบริษัท ซีเอ็นไอฯ โดยมีผลตอบแทนเป็นเงินปันผลจากการลงทุน โจทก์มิได้เป็นเจ้าหนี้บริษัท ซีเอ็นไอฯ จึงไม่มีหนี้จะหักกลบลบกันได้ ระหว่างเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยกับเงินลงทุนซึ่งบริษัท ซีเอ็นไอฯ ชำระบัญชี ไปแล้วนั้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงไม่ถูกต้อง
เมื่อโจทก์ปลดหนี้ให้แก่บริษัท ไทยซีเอ็นฯ และโจทก์ได้นำจำนวนเงินดังกล่าวไปบวกกลับ เป็นรายได้เพื่อคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิในการเสียภาษีแล้ว แสดงว่า ไม่ใช่กรณีโจทก์คำนวณกำไรขาดทุนสุทธิโดยการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) โดยโจทก์มิได้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตามเงื่อนไขของ มาตรา 65 ทวิ(9) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เจ้าพนักงานประเมินอ้างว่าเป็นการจำหน่ายหนี้สูญที่ไม่เป็นไป ตามกฎกระทรวงดังกล่าว การประเมินของ เจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้อง

การที่โจทก์ปลดหนี้ให้แก่บริษัท ไทยซีเอ็นฯ โดยนำรายการที่ปลดหนี้ให้นั้นคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ๆ แล้ว มิใช่เป็นกรณีโจทก์จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวงและต้องห้ามถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล การปลดหนี้ดังกล่าวเป็นผลให้หนี้เงินกู้ระงับไปแล้ว โจทก์ไม่มีรายรับดอกเบี้ย จากเงินกู้ตามการประเมินจึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้อง
หนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ แต่ละรอบระยะเวลาบัญชี หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ละเดือนภาษีนั้น มีสภาพเป็นคำฟ้องแต่ละข้อหาไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกออกจากกันได้ คำฟ้องของโจทก์ จึงมีหลายข้อหาตามหนังสือแจ้งการประเมินแต่ละฉบับ ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลแยกเป็นรายการตามข้อหา จึงชอบแล้ว มิใช่กรณีโจทก์ต้องเสีย ค่าขึ้นศาลอัตราสูงสุดเพียง 200,000.-บาท สำหรับการที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิขึ้นใหม่ ทำให้ผลขาดทุนสุทธิของโจทก์น้อยลงไป ซึ่งหากศาลวินิจฉัยให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์ ในส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เปลี่ยนแปลงตามรายการนั้นด้วย ย่อมเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่ศาลภาษีอากรกลาง ให้โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาล ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันดังกล่าวถูกต้องแล้ว
โจทก์เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจหลักเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างทุกชนิด การออกหุ้นกู้ของโจทก์เป็นการระดมทุนอย่างหนึ่งโดยโจทก์ออกตราสารแห่งหนี้ให้แก่ผู้ซื้อหุ้นกู้เพื่อแสดงสิทธิที่จะได้รับเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นของผู้ถือตราสารดังกล่าว เป็นกรณีโจทก์กู้เงินมาจากผู้ถือตราสารหุ้นกู้ของโจทก์และต้องคืนโดยการไถ่ถอนหุ้นกู้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นฟังได้ว่า การไถ่ถอนหุ้นกู้ของโจทก์โดยเจ้าหนี้ยอมรับชำระไม่เต็มตามจำนวนที่ตราไว้ในตราสารแสดงสิทธิในหุ้นกู้ตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ มิใช่เป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงิน ค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีการต่างๆ ตามมาตรา 91/2(5) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 14-02-2021