คำพิพากษาฎีกาที่7362/2555 | |
นายอาทิตย์ จินดาพรโสภิต | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง ภาษีอากร | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 30 มาตรา 42 (17) | |
กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ฯ (ข้อ 2 (36) | |
ประกาศอธิบดีเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 52, 151, 158 | |
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2518 เมื่อปี 2540 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกระเบียบธนาคาร แห่งประเทศไทย ที่ พ. 27/2550 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกันพ.ศ. 2550 โจทก์เข้าร่วมโครงการตามระเบียบดังกล่าว วันที่ 14 กันยายน 2550 ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่ง ที่ พ. 249/2550 เรื่องอนุญาตให้พนักงานออกจากงาน โดยความเห็นชอบร่วมกัน มีผลทำให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 การอกจากงานดังกล่าวถือว่าเป็นการเกษียณอายุตามข้อตกลงที่โจทก์มีกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์ได้รับเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 9,900,989.76 บาท หักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวน 1,355,243.11 บาท และได้รับเงินได้อื่นจากการทำงาน 6,155,963.11 บาท หักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวน 1,112,342.26 บาท เป็นการเพิ่มเติมข้อตกลงว่าด้วยการจ้าง ที่เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับพนักงาน โดยมีเจตนารมณ์เช่นเดียวกับการออกจากงานกรณีเกษียณอายุ โจทก์ออกจากงานเมื่ออายุ 58 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินที่โจทก์ได้จาก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำเลยต้องรับผิดคืนเงินภาษี หัก ณ ที่จ่ายจำนวน 1,712,043.53 บาท ดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยคืนเงินภาษีจำนวน 1,712,043.53 บาท พร้อมดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากการได้รับเงินได้ จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะโจทก์ไม่ต้องออกจากงานเพราะเกษียณตามที่ระบุไว้ ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 195 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย การยกเว้นรัษฎากร (ที่แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตาม ความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยยกเว้นรัษฎากร) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการ สำหรับกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพหรือตาย เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยนายจ้างของโจทก์ได้จัดให้มีข้อ ตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2532 โดยกำหนดหลักเกณฑ์การเกษียณอายุเพียงกรณีเดียวตามข้อ 19 (5) คือ ครบเกษียณอายุตามข้อ 26 ซึ่งระบุว่าพนักงานคนใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมาย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ธนาคาร แห่งประเทศไทยมิได้กำหนดให้การขอเกษียณอายุก่อนกำหนดและได้รับอนุมัติให้ออก จากงานเป็นการพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุ คำสั่งอนุญาตให้ออกจากงาน ก่อนครบเกษียณอายุตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 27/2550 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ. 2550 ไม่ใช่การที่นายจ้าง ให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข วิธีการในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) ดังกล่าว ดังนั้นเงินที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีให้โจทก์จำนวน 1,355,243.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าภาษี ดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 กันยายน 2551) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน แต่ดอกเบี้ยต้องไม่เกินต้นเงินค่าภาษีอากร ในส่วนค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2518 เมื่อปี 2550 ธนาคาร แห่งประเทศไทยออกระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ.27/2550 เรื่อง การออก จากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ. 2550 โจทก์เข้าร่วมโครงการตามระเบียบ ดังกล่าว วันที่ 14 กันยายน 2550 ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน มีผลทำให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2550 ขณะนั้นโจทก์มีอายุ 58 ปี โจทก์สมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2539 จนพ้นจากตำแหน่งงาน โจทก์ได้รับเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเงิน 9,900,989.76 บาท หักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวน 1,355,243.11 บาท และได้รับเงินได้อื่นจากการทำงาน 6,155,963.11 บาท หักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวน 1,112,342.26 บาท วันที่ 10 มีนาคม 2551 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยโจทก์ไม่นำเงินได้ที่ได้รับจากกองทุน สำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวไปร่วมคำนวณเพื่อเสียภาษีด้วย แต่นำหักภาษี ณ ที่จ่ายไป รวมคำนวณขอคืนทั้งหมด 1,819,614.70 บาท แต่สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 14 มีหนังสือที่ ค21-00000722-25510429-01-000413 แจ้งคืนเงินภาษี แก่โจทก์ 107,571.17 บาท ซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่าที่โจทก์ขอคืน วันที่ 15 พฤษภาคม 2551 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวขอคืนภาษีเพิ่มอีกจำนวน 1,712,043.53 บาท จำเลยมีหนังสือที่ กค 0707 (อธ)/ 8719 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2551 แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบว่า โจทก์ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น รัษฎากร โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงฟ้องเป็นคดีนี้ สำหรับปัญหาที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า เงินได้ส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวน 1,112,342.26 บาท ไม่ได้จากยกเว้นภาษี เงินได้บุคคลธรรมดานั้นโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้ง จึงเป็นอันยุติแล้ว คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า เงินได้เฉพาะส่วนที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่เห็นว่า ตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความ ในประรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กำหนดว่าเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17) ซึ่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการ สำหรับกรณี ลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) ตามลำดับข้อ 1 (1) กำหนดว่า กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ดังนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรการเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมิได้มีบทบังคับเด็ดขาดว่ากรณีเกษียณอายุจะต้องเป็นกำหนดเวลาทำงานที่มีอยู่แล้วตั้งแต่เวลาที่ลูกจ้างเริ่มเข้าทำงานจึงไม่อาจขยายความให้เป็นผลร้ายแก่ผู้เสียภาษีอากรได้กรณีของโจทก์แม้ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2532จะกำหนดเวลาการจ้างแรงงานไว้ในข้อ 26 คือ พนักงานคนใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุ เมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์หรือตามข้อบังคับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2546 ข้อ 6.6 (5)ระบุว่า พนักงานคนใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุ เมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ก็ตาม แต่ก็ยังสามารถตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ้าง การทำงานและการเลิกจ้างได้ การที่โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดดังกล่าวตามระเบียบธนาคาร แห่งประเทศไทย ที่ พ 27/2550 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ. 2550 นั้น เป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงของทั้งสองฝ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง อันมีผลให้กำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง ทั้งมิใช่เป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2532 ข้อ 19 (2) หรือข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2546 ข้อ 6.6 (2) จึงถือได้ว่าโจทก์ออก จากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรตามหลักเกณฑ์กรณีเกษียณอายุในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ดังกล่าวแล้ว เมื่อขณะออกจากงานโจทก์มีอายุ 58 ปี และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ได้จาก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้ยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามความในข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) ตามลำดับที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่เมื่อใด โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเริ่มคิดดอกเบี้ยนับถัดจากวันครบกำหนสามเดือนนับแต่วันที่ยื่นคำร้องขอคืนภาษี จนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน แต่เมื่อโจทก์ขอดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจึงให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวนั้น เป็นการไม่ชอบ เพราะโจทก์มีสิทธิเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากรศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติ เรื่องการคืนเงินภาษีอากรไว้เป็นพิเศษแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ขอคืนได้ตามอัตรา หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากรซึ่งเป็นจำนวนดอกเบี้ยมากกว่าที่โจทก์ขอ ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายภาษีอากรฝ่ายสรรพากรกำหนดให้โจทก์เริ่มคิดดอกเบี้ยได้หลังจากครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามที่จำเลยอุทธรณ์ ดังนั้น ที่ศาลฎีกาภาษีอากรกลางพิพากษาให้เท่าที่โจทก์ขอจึงชอบแล้ว" | |
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ |