คำพิพากษาฎีกาที่7015/2555 | |
นายสุเมธ กนกรัตนนุกูล | โจทก์ |
กรมสรรพากร ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน | จำเลย |
เรื่อง การออกหมายเรียกและประเมินภาษีอากร | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 19 มาตรา 40 มาตรา 48 มาตรา 49 | |
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 | |
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 | |
บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรว่าด้วยเรื่องอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินมิได้ห้าม เจ้าพนักงานประเมินแก้ไขการประเมินที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ ก่อนมีการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษีที่พิพาทจากโจทก์ เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกโจทก์ไปไต่สวนตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว เมื่อเจ้าพนักงานประเมินยกเลิกการประเมินครั้งแรกเพราะเห็นว่า การประเมินดังกล่าวยังไม่ถูกต้อง มิใช่เพราะเห็นว่า โจทก์ไม่มีภาระภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม ซึ่งถือไม่ได้ว่า การเรียกตรวจสอบตามหมายเรียกดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงแล้ว เจ้าพนักงานประเมินก็ย่อมมีอำนาจประเมินใหม่ให้โจทก์ชำระภาษีตามที่เห็นว่าถูกต้องได้โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร อีกครั้ง แม้การประเมินครั้งหลังจะทำให้โจทก์ต้องชำระภาษีมากกว่าการประเมินครั้งแรกก็ตาม แต่การประเมินในครั้งหลังมีผลทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเพียงครั้งเดียว จึงมิใช่การประเมินซ้ำซ้อน โดยเฉพาะการประเมินครั้งหลังยังคงเป็นการประเมินในเรื่องเดิมเกี่ยวกับยอดเงินได้พึงประเมินของโจทก์ โดยเจ้าพนักงานประเมินอาศัยพยานหลักฐานที่ได้จากการดำเนินการตรวจสอบไต่สวนมาแล้วเท่าที่มีอยู่เดิมในการประเมินครั้งแรกเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาประเมิน มิใช่การประเมินในเรื่องใหม่ที่เจ้าพนักงานประเมินไม่เคยตรวจสอบไต่สวนมาก่อน ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่จำต้องแจ้งให้โจทก์มาชี้แจงหรือแสดงพยานหลักฐานเพิ่มเติมดังที่โจทก์อ้าง ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินในครั้งหลัง โดยอาศัยหมายเรียกฉบับเดิมนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ประเด็นประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากโจทก์โดยกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ในปัญหานี้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานประเมินเพียงแต่นำรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีเงินฝากธนาคารของโจทก์มาประกอบการพิจารณาว่า รายการทางการเงินที่ปรากฏอยู่ในเอกสารดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์หรือไม่ และรายการที่โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นของบุคคลอื่นก็ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์เพื่อนำมาประเมินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ซึ่งเป็นวิธีการประเมินตามขั้นตอนปกติทั่วไปและคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่เป็นการประเมินโดยการกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ศาลเห็นว่า ข้อความในอุทธรณ์ของโจทก์เป็นไปในทำนองเดียวกับที่โจทก์กล่าวไว้ในคำฟ้อง โดยอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางว่า ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือคลาดเคลื่อนอย่างไรวิธีการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวมิใช่การประเมินตามขั้นตอนปกติด้วยเหตุผลใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาภาษีอากร พ.ศ.2528 ประกอบมาตรา 225 วรรคหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลไม่รับวินิจฉัย บัญชีเงินฝากธนาคาร เป็นบัญชีที่โจทก์เปิดไว้กับทางธนาคารหากโจทก์อ้างว่า เงินในบัญชีดังกล่าว มีส่วนที่เป็นของบุคคลอื่นรวมอยู่ด้วย โจทก์ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ความเช่นนั้น เงินดังกล่าวเป็นจำนวนสูงมาก โจทก์อ้างว่า เงินส่วนใหญ่ในบัญชีเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ. ซึ่งตามปกติในการประกอบธุรกิจการค้า ของนิติบุคคล ย่อมต้องมีการจัดทำบัญชีรับจ่าย บัญชีแสดงรายการเจ้าหนี้และลูกหนี้ รวมทั้งงบการเงินต่างๆ แต่โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏว่า เงินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ. ที่นำฝากเข้าบัญชีของโจทก์มีที่มาอย่างไรแต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าใด โดยเฉพาะหากมีการโอนเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่ทางห้างจริงก็ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยที่จะตรวจสอบว่า ลูกค้ารายใดเป็นผู้โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ ข้อที่โจทก์อ้างว่า รายการเงินฝากในบัญชีด้วยเงินสดหรือที่เป็นตัวเลขจำนวนเต็ม รวมทั้งการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของโจทก์เพื่อเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวเป็นเงินที่ใช้สำหรับหมุนเวียนในการประกอบการค้าของห้างอันเป็นเงินรายได้ของห้างนั้น โจทก์ก็เพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงให้เห็นว่า มีการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ประเภทออมทรัพย์มาเข้าบัญชีกระแสรายวันจริง ส่วนรายการเงินฝากที่เป็นเงินสดหรือที่เป็นตัวเลขจำนวนเต็มก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่า รายการเงินฝากดังกล่าว เป็นเงินทุนหมุนเวียนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ. แต่อย่างใด ทั้งการที่มียอดเงินนำฝากเข้าบัญชีในปีภาษี 2539 เป็นจำนวน 30 ล้านบาทเศษ แต่ยอดเงินตามบัญชีในวันสุดท้ายของปีกลับเป็นหนี้ธนาคาร และยอดเงินนำฝากเข้าบัญชีในปีภาษี 2540 เป็นจำนวน 42 ล้านบาทเศษ แต่ยอดเงินตามบัญชีในวันสุดท้ายของปีคงเหลือเพียง 5,000.- บาทเศษ ก็ไม่อาจสรุปว่า เงินฝากในบัญชีดังกล่าวไม่ใช่ของโจทก์ ข้ออ้างของโจทก์จึงเลื่อนลอยและมีพิรุธ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นได้ว่า ยอดเงินที่นำเข้าบัญชีเงินฝากในปีภาษี 2539 และปีภาษี 2540 มีส่วนที่เป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ. จำนวนเท่าใด การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ประเมินและวินิจฉัยว่า ยอดเงินนำฝากเข้าบัญชีดังกล่าวภายหลังจากหักจำนวนเงินที่ปรากฏหลักฐานว่า เป็นการชำระค่าซื้อสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด ซ. ที่ซื้อจากบริษัท ป. เป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และพิจารณาหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาให้ในอัตราร้อยละ 75 โดยงดเรียกเก็บเบี้ยปรับ จากโจทก์จึงถูกต้องและเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน |