คำพิพากษาฎีกาที่7013-7014/2555 | |
นางนงนุช สมศักดิ์ ที่ 1 นายมนัส อู่ทองทรัพย์ ที่ 2 | โจทก์ |
กรมสรรพากร ที่ 1 สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 ที่ 2 สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 10 ที่ 3 | จำเลย |
เรื่อง บำเหน็จดำรงชีพ | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้องพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 มาตรา 47/1 | |
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2546 มาตรา 57/1 | |
กฎกระทรวง ฉบับที่ 258 (พ.ศ.2549) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย การยกเว้นรัษฎากร | |
กฎกระทรวง ฉบับที่ 245 (พ.ศ.2547) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร | |
กฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากร | |
การพิจารณาอัตราและวิธีการคำนวณบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการต้องพิจารณาจากกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ.2546 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 47/1 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2546 โดยความในข้อ 1 ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวกำหนดว่า “บำเหน็จดำรงชีพให้จ่ายในอัตราไม่เกินสิบห้าเท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับแต่ไม่เกินสองแสนบาท” เห็นได้ว่ากฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดอัตราการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพไว้แจ้งชัดว่าให้จ่ายตามอัตราที่กำหนดไว้แต่ไม่เกิน สองแสนบาท จำนวนเงินที่กำหนดไว้ว่าไม่ให้เกินสองแสนบาทจึงเป็นส่วนหนึ่งของอัตราการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยเฉพาะกฎกระทรวง ฉบับที่ 258 (พ.ศ.2549) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 ขณะที่กฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ.2546 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 หากฝ่ายบริหารประสงค์จะให้ผู้รับบำเหน็จดำรงชีพซึ่งเป็นพนักงานธนาคาร อ. ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำบำเหน็จดำรงชีพมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ทั้งจำนวน ในการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 258 (พ.ศ.2549) ซึ่งประกาศใช้ในภายหลังก็สามารถระบุให้ชัดแจ้งได้ การที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 258 (พ.ศ.2549) เพิ่มความในข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) เป็น (73) โดยกำหนดให้บำเหน็จดำรงชีพซึ่งพนักงานธนาคารออมสินได้รับและมีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ต้องมีอัตราและวิธีการคำนวณเช่นเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ย่อมแสดงว่ากฎกระทรวงดังกล่าวมีเจตนารมณ์ให้ผู้รับบำเหน็จดำรงชีพที่เป็นพนักงานธนาคารออมสินได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เท่ากับสิทธิที่บุคคลซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญได้รับตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ.2546 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 245 (พ.ศ.2547) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร นั่นเอง ดังนั้น แม้ตามข้อ 18 วรรคหนึ่ง ของระเบียบธนาคารออมสิน ฉบับที่ 403 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารออมสินจะกำหนดให้พนักงานที่ออกจากงานและได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสามมีสิทธิรับบำเหน็จดำรงชีพเป็นจำนวนไม่เกินสิบห้าเท่าของเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสามที่ได้รับอยู่ โดยมิได้กำหนดอัตราสูงสุดว่าไม่เกินสองแสนบาท เป็นผลให้โจทก์ทั้งสองแต่ละคนได้รับบำเหน็จดำรงชีพเป็นจำนวนเกินกว่าสองแสนบาทก็ตามบำเหน็จดำรงชีพที่โจทก์ทั้งสองได้รับก็มีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้เป็นจำนวนเพียงสองแสนบาทตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ.2546 เท่านั้น หาใช่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ทั้งจำนวนไม่ |