เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่5759/2556 
บริษัท ฮานา เซมิคอนดักเตอร์ (กรุงเทพ) จำกัดโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง ภาษีอากร
กฎหมายที่เกี่ยวข้องพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1)
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ โดยโจทก์อุทธรณ์ในทำนองว่า ผลคำพิพากษาศาลฎีกา ที่1056/2549 ไม่มีกรณีต้องบังคับคดีอีกทั้งข้อพิพาทดังกล่าวไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการคิดคำนวณเงินเพิ่ม แต่เมื่อโจทก์ต้องชำระภาษีอากรตามการประเมินรวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม จึงเกิดข้อโต้เถียงขึ้นใหม่ว่าวิธีการคำนวณเงินเพิ่มของจำเลยไม่ชอบอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ใหม่ โจทก์จึงไม่มีช่องทางที่จะขอให้ศาลภาษีอากรกลางบังคับให้จำเลยคิดคำนวณเงินเพิ่มในคดีเดิมให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ลักษณะของคดีภาษีอากรตามบทบัญญัติ มาตรา 7 (1)แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528ให้สิทธิแก่โจทก์ลูกหนี้ค่าภาษีอากรฟ้องปฏิเสธการเป็นลูกหนี้ต่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ภาษีอากรตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยการฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวต่อศาลแม้โจทก์แพ้คดีโดยศาลพิพากษาไม่เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์โจทก์ก็ไม่กลายเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับหนี้ค่าภาษีอากรตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว เว้นแต่กรมสรรพากรในฐานะจำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามคำฟ้องของโจทก์ แล้วศาลพิพากษาให้ตามคำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลย ซึ่งแตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไปที่ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ในการใช้สิทธิเรียกร้องของตนฟ้องลูกหนี้ต่อศาลเท่านั้น เมื่อคดีเดิมโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาไม่เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยดังกล่าว ซึ่งตามผลคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิม โจทก์คงมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีอากรตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หากโจทก์ไม่ชำระหนี้ค่าภาษีอากรและจำเลยประสงค์เงินค่าภาษีอากร จำเลยจะต้องดำเนินการตามมาตรา 12 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร หรือจำเลยฟ้องเรียกหนี้ค่าภาษีอากร หรือบังคับจากหลักประกันที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลย อย่างใดอย่างหนึ่ง ในคดีเดิมจึงไม่อาจมีการบังคับคดี ดังที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งได้ประกอบกับตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ปรากฏว่า หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีเดิมที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอน หนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 17 สิงหาคม 2549 เตือนให้โจทก์นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระโจทก์จึงนำเงินค่าภาษีอากรไปชำระตามหนังสือดังกล่าวครบถ้วน แต่โจทก์เห็นว่า เจ้าพนักงานของจำเลยคำนวณเงินเพิ่มถึงวันที่กำหนดให้ชำระทั้งสิ้นจำนวน 8,917,196.31 บาทไม่ถูกต้อง ทั้งที่มีภาระภาษีในส่วนที่เป็นเงินเพิ่มเพียงจำนวน 5,096,090.93 บาท เนื่องจากจำเลยได้นำเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนตามหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามที่โจทก์ขอคืนไว้เป็นเงินจำนวน 16,225,120.76 บาท ไปหักกลบลบหนี้กับค่าภาษีตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวบางส่วน รวมทั้งเงินเพิ่มที่คำนวณถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 ทั้งสิ้นจำนวน 8,773,632.76 บาทในคดีเดิมแล้ว ทำให้คงเหลือภาษีจำนวน 5,096,090.93 บาท กับเงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 7 กันยายน 2541จำนวน 1,834,592.74 บาท โจทก์จึงยื่นหนังสือโต้แย้งต่อจำเลยในวันที่โจทก์นำเงินค่าภาษีอากรตามหนังสือเตือนไปชำระให้แก่จำเลยว่าการคำนวณเงินเพิ่มดังกล่าวไม่ถูกต้อง และวันที่ 18 กันยายน 2549 โจทก์ยื่นอุทธรณ์การคำนวณเงินเพิ่มดังกล่าวแต่จำเลยไม่รับคำอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2549 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำนวนเงินเพิ่มที่จำเลยเรียกเก็บไว้แล้วนั้นถูกต้องและไม่คืนเงินภาษีอากรตามจำนวนที่โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องคืนให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่า เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่เห็นว่าเฉพาะจำนวนเงินค่าภาษีอากร 3,821,105.38 บาท ที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยภายหลังจากที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีเดิมแล้วเป็นการชำระภาษีเกินไปกว่าที่จำเลยมีสิทธิได้รับอันเป็นคนละประเด็นกับที่พิพาทในคดีเดิม โจทก์จึงไม่อาจไปว่ากล่าวในคดีเดิมได้ตามที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัย พิพากษากลับให้ยกคำสั่งของศาลภาษีอากรกลางที่ไม่รับคำฟ้อง และให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาคำฟ้องตามกฎหมายต่อไป

 

ปรับปรุงล่าสุด: 15-02-2021