เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่133/2556 
นายวิเชียร แซ่ตั้งโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีเงินได้จากการขายฝากที่ดินที่ผู้ขายฝากมิได้ไถ่ถอน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 มาตรา 8 (27)
ประมวลรัษฎากร มาตรา 9 ทวิ
มาตรา 491 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่า ผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้” นั้น มีลักษณะแตกต่างจากสัญญาซื้อขายเด็ดขาดตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติว่า “อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่า จะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย” ซึ่งกรณีการซื้อขายเด็ดขาดนั้น สัญญาซื้อขายไม่ทำให้ผู้ขายมีสิทธิจะได้ทรัพย์คืนโดยตรง ดังนั้น ผู้ขายย่อมต้องคำนึงถึงการที่จะต้องสูญเสียทรัพย์ไปในการกำหนดราคาขายสูงตามมูลค่าทรัพย์ แต่ในสัญญาขายฝากผู้ขายมีสิทธิได้รับทรัพย์คืนโดยการไถ่ถอนได้ ย่อมมีเหตุผลที่ผู้ขายฝากจะกำหนดราคาขายฝากเพื่อใช้สิทธิไถ่ถอนในราคาต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์ตามความจำเป็นที่ต้องการเงิน และไม่เป็นภาระที่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการใช้สิทธิ ไถ่ถอนเกินความจำเป็น ดังนั้น เมื่อมีการทำสัญญาขายฝากโดยตกลงราคาต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์ที่แท้จริง และต่อมาไม่สามารถไถ่ถอนการขายฝากได้ ก็ย่อมมีผลให้โจทก์ผู้รับซื้อฝากได้รับทรัพย์สินนั้นในมูลค่าทรัพย์ที่สูงกว่าจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายให้ผู้ขายฝากไปได้ อันเป็นเงินได้อื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) ถึง (7) ตามที่บัญญัติไว้ในความตอนท้ายของมาตรา 40(8) ประกอบกับมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นคนละกรณีกับเงินได้ของผู้ขายฝากที่ได้รับเงินจากผู้ซื้อฝากตามสัญญาขายฝาก นอกจากนี้ หากเป็นกรณีที่โจทก์ผู้รับซื้อฝากไว้ในราคาสูงหรือเท่ากับมูลค่าทรัพย์จริง โจทก์ก็อาจพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคานี้ เพื่อหักเป็นค่าใช้จ่ายตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ที่กำหนดว่า เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการรับสินไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก หรือการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยเด็ดขาดจากการขายฝาก ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 85 เว้นแต่ผู้มีเงินได้แสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมิน และพิสูจน์ได้ว่า มีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่า รับซื้อฝากไว้ในราคาสูงหรือเท่ากับมูลค่าทรัพย์จริง ประกอบกับโจทก์ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์เรื่องค่าใช้จ่าย ก็ให้ถือว่า โจทก์มีค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 85 ตามมาตรา 8 (27) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11)พ.ศ. 2502 ซึ่งมีผลเท่ากับว่า โจทก์มีเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายอันเป็นกำไรเพียงร้อยละ 15 ซึ่งสอดคล้องกับอัตราผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายฝากตามมาตรา 499 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดให้ผู้รับซื้อฝากมีสิทธิได้รับสินไถ่ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปีอีกด้วย

 

ปรับปรุงล่าสุด: 15-02-2021