เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากัน หรือโอนกิจการทั้งหมด ให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 โสฬส มาตรา 5 สัตตรส และมาตรา 6 (31) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 330) พ.ศ. 2541 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 341) พ.ศ. 2541 และพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 357) พ.ศ. 2542 และข้อ 2(50) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 215 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากร จึงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงดังกล่าว ไว้ดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2542

 

                ข้อ 2  การควบเข้ากันหรือการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัดหรือบริษัทจำกัด จะต้องมีลักษณะและหรือเงื่อนไขดังต่อไปนี้

                           (1) ต้องเป็นการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัท มหาชน จำกัด และบริษัทจำกัด ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

                           "(2) ให้บริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด อันได้ตั้งขึ้นใหม่ด้วย ควบเข้ากันนั้น และบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัดผู้รับโอน แจ้งรายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้น และมูลค่าหุ้น ตามทะเบียนหุ้นทั้งของต่างบริษัทที่ควบเข้ากัน บริษัทที่ตั้งใหม่ บริษัทผู้โอน และบริษัทผู้รับโอน ต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทใหม่ กรณีควบ หรือนับแต่วันจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรณีโอน ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด อันได้ตั้งขึ้นใหม่ด้วย ควบเข้ากัน และบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด ผู้รับโอน แล้วแต่กรณี"

( แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ใช้บังคับ 11 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป )

                           (3) บริษัทที่ควบเข้ากัน และบริษัทผู้โอนหรือผู้รับโอนจะต้องไม่เป็นลูกหนี้ภาษีอากรค้างของกรมสรรพากร ณ วันที่ควบหรือวันที่โอน เว้นแต่ได้จัดให้มีธนาคารหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้ภาษีอากรค้างและค่าใช้จ่ายในการบังคับหนี้ดังกล่าวแล้ว

                           (4) กรณีการโอนกิจการให้แก่กัน บริษัทผู้โอนกิจการต้องจดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น

                           (5) ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากร ให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย

 

                ข้อ 3  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับ

                           (1)ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2541 สำหรับการยกเว้นรัษฎากรตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 330) พ.ศ. 2541

                           (2) ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 สำหรับการยกเว้นรัษฎากรตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 215 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

                           (3) ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2541 สำหรับการยกเว้นรัษฎากรตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 341) พ.ศ. 2541

                           (4) ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2542 สำหรับการยกเว้นรัษฎากรตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 357) พ.ศ. 2542

 

ประกาศ ณ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542

 

ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022