เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 4)

เรื่อง    กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่าย มีบัญชีพิเศษ

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มีบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและการนำส่งภาษี และให้กรอกข้อความในบัญชีดังกล่าว ดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มีบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและการนำส่งภาษี และบัญชีพิเศษดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีข้อความตามแบบแนบท้ายประกาศนี้

 

                ข้อ 2  การกรอกข้อความในบัญชีพิเศษดังกล่าวสำหรับรายการการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แยกเป็น 2 กรณี คือ กรณีตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากรแห่งหนึ่ง และกรณีอื่น ๆ อีกกรณีหนึ่ง ส่วนรายการการนำส่งภาษีให้แยกตามใบเสร็จรับชำระภาษีอากรของกรมสรรพากรเป็นรายฉบับ

 

                ข้อ 3  วิธีการกรอกข้อความในบัญชีพิเศษให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

                           (1) กรอกรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยรวมจำนวนเงินหักภาษี ณ ที่จ่ายประจำวันของแต่ละกรณีตามข้อ 2 โดยให้แยกเป็นรายการหักจากบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและกรอกรายการการนำส่งภาษีประจำวันโดยให้แยกตามใบเสร็จรับชำระภาษีอากรของกรมสรรพากรเป็นรายฉบับ เรียงลำดับก่อนหลังตามวันที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือการนำส่งภาษี

                           (2) เมื่อสิ้นวันสุดท้ายของเดือนให้รวมยอดจำนวนเงินหักภาษี ณ ที่จ่าย และจำนวนภาษีที่นำส่งแล้วทั้งสิ้นในเดือนนั้นของแต่ละรายการด้วย

 

                ข้อ 4  การกรอกข้อความในบัญชีพิเศษให้ทำเป็นภาษาไทย ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศให้มีภาษาไทยกำกับส่วนตัวเลขจะใช้เลขไทยหรือเลขอารบิคก็ได้ หรือจะลงเป็นรหัสด้วยเครื่องจักรทำบัญชีก็ได้ แต่ต้องส่งคำแปรรหัสเป็นภาษาไทยต่อเจ้าพนักงานประเมินสำหรับท้องที่สำนักงานของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายนั้นตั้งอยู่

                           การกรอกข้อความตามวรรคหนึ่ง ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันถัดจากวันที่รายการดังกล่าวเกิดขึ้น

 

                ข้อ 5  ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่าย เก็บรักษาบัญชีพิเศษดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่าห้าปีที่สำนักงานที่มีการจ่ายเงินได้ และพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ทันที

 

                ข้อ 6  กรณีดังต่อไปนี้ ไม่อยู่ในบังคับตามประกาศนี้

                           (1) การจ่ายเงินที่มีการตั้งฎีกาเบิกเงินจากคลัง

                           (2) การจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยตั๋วเงินของธนาคาร สหกรณ์ บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม

                           (3) กรณีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และต้องนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียน

                           (4) กรณีอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

 

                ข้อ 7  การปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งการเป็นอย่างอื่นก็ได้ตามที่เห็นสมควร

 

                ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2531

 

ประกาศ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531

 

บัณฑิต บุณยะปานะ

อธิบดีกรมสรรพากร




บัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและการนำส่งภาษี
ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 4)
เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่าย มีบัญชีพิเศษ

วัน
เดือน
ปี
รวมจำนวนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ประจำวัน
การนำส่งภาษี
หมายเหตุหรือ
บันทึกการตรวจ
ของเจ้าพนักงาน
ประเมิน
หักจากบุคคลธรรมดา
หักจากบริษัทหรือนิติบุคคล
แบบที่ใช้
ยื่นรายการ
รับชำระภาษี
เลขที่
ใบเสร็จ
จำนวน
ตาม
มาตรา
3 เตรส
อื่น ๆ
ตาม
มาตรา
3 เตรส
อื่น ๆ
              
รวมเป็น
เงินทั้งสิ้น
ในเดือนนี้
           

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022