เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 98)

เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออาคาร อาคารพร้อมที่ดิน ห้องชุดในอาคารชุดหรือที่ดินพร้อมกับว่าจ้างก่อสร้างอาคารในที่ดิน

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความแห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 230 (พ.ศ. 2544) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการ ยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับ เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออาคาร อาคารพร้อม ที่ดิน ห้องชุดในอาคารชุด หรือที่ดินพร้อมกับว่าจ้างก่อสร้างอาคาร ในที่ดิน ดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  การยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้ออาคาร อาคารพร้อมที่ดิน ห้องชุดในอาคาร ชุด หรือที่ดิน พร้อมกับว่าจ้างก่อสร้างอาคารในที่ดิน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

                      (1) ต้องเป็นการซื้ออาคาร อาคารพร้อมที่ดิน ห้องชุดในอาคารชุด หรือที่ดินพร้อมกับว่าจ้างก่อสร้างอาคาร ในที่ดิน แต่เพียงแห่งเดียว

                      (2) ต้องทำสัญญาซื้อขาย หรือสัญญาจะซื้อขายอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน ห้องชุดในอาคารชุด หรือที่ดินพร้อม กับว่าจ้างก่อสร้างอาคารในที่ดินระหว่างวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2544 ถึงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2545

                      (3) ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตาม (2) ระหว่างวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2544 ถึงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2545 หรือกรณีซื้อที่ดินพร้อมกับว่าจ้างก่อสร้างอาคารในที่ดิน ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อพร้อมกับ ก่อสร้างอาคารต้องแล้วเสร็จระหว่างวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2544 ถึงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2545

                      (4) การโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อ โดยไม่มีการจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อหรืออาคาร ที่สร้างนั้นเป็นประกันการกู้ยืมเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือสร้างอาคารดังกล่าวให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเท่ากับ จำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยให้ได้รับยกเว้นภาษีดังนี้

                            (ก) ให้ได้รับยกเว้นภาษีปีภาษีละครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

                            (ข) ให้ได้รับยกเว้นภาษีเป็นระยะเวลา 2 ปี ติดต่อกันนับแต่ปีภาษีที่ผู้มีเงินได้ได้รับโอน กรรมสิทธิ์

                      (5) การโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อ โดยมีการจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อหรืออาคารที่ ก่อสร้างนั้นเป็นประกันการกู้ยืมเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือสร้างอาคารดังกล่าว ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเท่ากับ จำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยให้ได้รับยกเว้นภาษีในปีภาษีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์นั้น

                      (6) อาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดนั้น ผู้มีเงินได้จะใช้เป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประกอบ กิจการ หรือเพื่อการอื่นก็ได้

                      (7) กรณีสามีและภริยาร่วมกันซื้ออาคาร อาคารพร้อมที่ดิน ห้องชุดในอาคารชุด หรือที่ดินพร้อมกับ ว่าจ้างก่อสร้างอาคารในที่ดินหลายแห่ง ให้ยกเว้นภาษีแต่เพียงแห่งแรกแห่งเดียว

                      (8) ถ้าสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่ เกินจำนวนตามที่กำหนดใน (4) และ (5)

                      (9) กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีอยู่ก่อนแล้วต่อมาได้สมรสกัน ให้ยังคงได้รับยกเว้นภาษี ดังต่อไปนี้

                            (ก) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนตามที่กำหนดใน (4) และ (5)

                            (ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการ และเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ได้รับยกเว้นภาษีรวมกันตามจำนวนที่ จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนดใน (4) และ (5)

                            (ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและ เสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีได้ กึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนตามที่กำหนดใน (4) และ (5)

 

                ข้อ 2  ผู้มีเงินได้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน ห้องชุด หรือที่ดินเป็น เวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าว หากผู้มีเงินได้ถือครอง กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวน้อยกว่า 2 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ผู้มีเงินได้ไม่มีสิทธิได้รับยกเว้น ภาษีตามข้อ 1. ในการนี้ ผู้มีเงินได้จำเป็นต้องปรับปรุงการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้มีการใช้สิทธิ ยกเว้นภาษีดังกล่าวไปแล้ว โดยการปรับปรุงดังกล่าวมีเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มแล้วแต่กรณี

 

                ข้อ 3  การได้รับยกเว้นภาษีตามข้อ 1. ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากผู้ขายหรือ ผู้รับจ้างที่พิสูจน์ได้ ว่าได้มีการจ่ายเงินตามสัญญาภายในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2544 ถึงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2545

 

                ข้อ 4  การได้รับยกเว้นภาษีตามข้อ 1. ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจาก เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

 

                ข้อ 5  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป

 

ให้ไว้ ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544

 

ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022